นักวิจัยจากสหรัฐฯ ดึงปัญญาประดิษฐ์ต่อกร “อัลไซเมอร์”

10 January 2019 Technology

เป็นไปได้ว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวัน อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อกรกับโรคอัลไซเมอร์ได้ก่อนที่อาการของโรคจะสำแดงออกมาแล้ว หลังมีนักวิจัยออกมาเผยถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์คาดการณ์การเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ล่วงหน้านานถึง 6 ปี โดยนักวิจัยเจ้าของผลงานี้คือ แจ โฮ ซอน (Jae Ho Sohn) นักวิจัยจากภาควิชารังสีวิทยาและชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

แนวคิดของแจคือการป้อนข้อมูลของผลสแกนสมองให้ระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งได้เรียนรู้ โดยโฟกัสไปที่ระดับกลูโคสในสมอง เพื่อให้มันวิเคราะห์ต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงของสมองในรูปแบบที่มันพบ จะนำพาไปสู่การเกิดโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตหรือไม่ “ความยากประการหนึ่งในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ก็คือ กว่าที่อาการจะแสดงออกมาเด่นชัดจนสามารถวินิจฉัยโรคได้นั้น เซลล์สมองจำนวนมากก็ตายไปแล้ว และไม่สามารถสร้างคืนกลับมาได้” แจกล่าว

ส่วนสาเหตุที่ต้องโฟกัสไปที่ระดับกลูโคสในสมอง เนื่องจากกลูโคสคือแหล่งพลังงานหลักสำหรับเซลล์สมอง และเมื่อเซลล์สมองติดเชื้ออัลไซเมอร์ มันจะหยุดใช้กลูโคส ดังนั้น การมอนิเตอร์ระดับกลูโคสจึงเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวิเคราะห์โรคนี้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา การมอนิเตอร์ด้วยมนุษย์อาจทำได้ช้า แต่ถ้าเป็นปัญญาประดิษฐ์ จะสามารถช่วยในการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

สำหรับข้อมูลที่แจและทีมงานป้อนให้กับอัลกอริทึมนั้น มีทั้งข้อมูลเพ็ทสแกนของสมองคนเป็นโรคอัลไซเมอร์, สมองของคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องทางสติปัญญา และสมองปกติ จากนั้น ก็ให้อัลกอริทึมหาวิธีในการคาดการณ์การเกิดอัลไซเมอร์ โดยระดับความแม่นยำนั้น อยู่ที่ 92% ในกลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์กลุ่มแรก และ 98% ในการทดสอบกลุ่มที่ 2 อีกทั้งยังสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เฉลี่ย 75.8 เดือน หรือ 6 ปีกว่าด้วย

อย่างไรก็ดี อัลกอริทึมดังกล่าวยังไม่พร้อมสำหรับการใช้รักษาคนไข้ทั่วไป แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับแพทย์ที่จะให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ผลงานการวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Radiology

Reference: www.fastcompany.com