AI จะเป็นกระแสหลักอุตสาหกรรม สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

17 December 2018 Technology

ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ปาฐกถาในงาน CMKL Tech Summit 2018 ในธีม Artificial Intelligence -The Future is Here ว่า  AI กำลังเข้ามาเป็นกระแสหลักของการใช้ในอุตสาหกรรม และเข้าถึงง่ายมากขึ้นเนื่องจากข้อมูลเป็นทรัพย์สินที่มีค่าเหมือน “น้ำมัน”

ข้อมูลจากไพร้ส วอเตอร์ คูเปอร์ คาดการณ์ว่า AI จะเข้ามาช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจแตะ 15.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030

AI จะเป็นเหมือน “กระแสไฟฟ้า” ที่ทุกธุรกิจต้องการ ด้วยข้อมูลมหาศาลปัจจุบันและการเปลี่ยนผ่านจาก 4G เข้าสู่ 5G ยิ่งทำให้ AI ทวีความสำคัญมากขึ้น “และธุรกิจไม่สามารถพลาดขบวนรถไฟฟ้าแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ได้”

ความแพร่หลายของ AI นั้น เกิดจากอัลกอรึมทึมที่เก่งมากขึ้น ต้นทุนที่ใช้การประมวลผล AI ต่ำลง และศักยภาพของอัลกอรึทึมที่ซับซ้อนทำงานได้ เช่น การรู้จำเสียงในระดับที่แม่นยำเช่นเดียวกับมนุษย์ ในปี 2017

ในภาคธุรกิจ นอกจาก AI จะมีผลกระทบในกลุ่มหลัก ทั้งสุขภาพ ยานยนต์ บริการการเงิน และขนส่งแล้ว AI ยังมีบทบาทการกำหนดและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งกลุ่มสื่อสาร ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และภาคเกษตรอีกด้วย

AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์เส้นทางพฤติกรรมของลูกค้า หรือคัสโตเมอร์เจอนีย์ ที่มีข้อมูลซับซ้อนปริมาณมาก และทำให้ค้นพบโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วย

ธุรกิจยังสามารถจัดอันดับความสำคัญ และได้อินไซต์ของลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพ 40% ปี 2035 จากข้อมูลของแอคเซนเจอร์

“ภายในสิ้นปี การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเห็นชัดเจนขึ้นจากการที่ภาคธุรกิจปรับโครงสร้างและการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น”

ปัจจุบันในนิเวศของไทยจะพบว่ามี 2 กลุ่มองค์กร กลุ่มแรก ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ทราบและขาดโนว์ฮาว และอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีทาเลนต์เพียงพอต่อการเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

ศ.ดร.สุรเกียรติ์ มองด้วยว่า การใช้งาน AI นักพัฒนาต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขยายได้ และการประมวลผลที่ราคาไม่แพง ที่สามารถสนับสนุนการทำงานของ AI และต้องการข้อมูลดิบและผู้เชี่ยวชาญ การทำ data labeling หรือป้ายกำกับข้อมูลที่ใช้สอนแมชชีน การตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้จากโมเดล และอื่นๆ โครงสร้างใหม่ทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับนักพัฒนา

Hyong Kim ผู้อำนวยการโปรแกรมของมหาวิทยาลัย CMKL ระบุว่า ปัจจุบันมีความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล โดยเอกชนจะสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักศึกษาที่จะใช้ AI ในธุรกิจจริง ทั้งไทยเบฟ เบทาโกร และสำนักพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เป็นต้น

Jose Moura ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ระบุว่า ภาคการศึกษาเข้ามาช่วยผู้บริหารเมืองในการใช้ AI บริหารระบบการจราจร ทั้งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในเว็บแคมและรถแท็กซี่

อนาคตเชื่อว่าการวิจัยจะขยับไปมากขึ้นนอกเหนือจากที่ AI จะจำลองความสามารถของมนุษย์ด้านภาษา และการรู้จำภาพ แต่จะขยับไปด้านโทรคมนาคมโดยจะช่วยหาเส้นทางการลดจุดอับสัญญาณของเครือข่ายในยุค 5G