นำ AI ช่วยลดความรุนแรงในครอบครัว

15 July 2018 Lifestyle

นักเคลื่อนไหวทางสังคม ตำรวจ และนักเทคโนโลยี เห็นพ้อง “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการให้คำปรึกษา ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ดีแทคดึงผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์จากเทเลนอร์ร่วมพัฒนาโครงการเพื่อสังคม พร้อมเชิญชวนป้อนข้อมูลในหุ่นยนต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Police Noi โปลิศน้อย”

ครอบครัวของไทยในปัจจุบันยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งความถี่และประเภทของความรุนแรง จากการศึกษาความรุนแรงในครอบครัวในปี พ.ศ.2559 พบว่า มีคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวถึง 466 คดี โดยความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตคิดเป็นสัดส่วนถึง ร้อยละ 83 ของคดีทั้งหมด

“แนวคิดสังคมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ไม่สามารถปรึกษาคนใกล้ตัว เพื่อนหรือคนในครอบครัวได้ จึงทำให้เกิดแรงกดดันและความรุนแรงต่อเนื่องได้ การมี ‘พื้นที่’ ให้ผู้ถูกกระทำได้ปรึกษาและระบายความรู้สึก จึงมีความสำคัญมาก เป็นกลไกที่ช่วยยุติความรุนแรงในครอบครัวได้” นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวในงานเสวนา “การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งแรกในประเทศไทย: กรณีศึกษาความรุนแรงในครอบครัว” จัดโดยบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์จากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวนและผู้นำเสนอโครงการโปลิศน้อยกล่าวว่า จากสถิติความรุนแรงพบว่าในแต่ละปี จะมีผู้หญิงถูกข่มขืนจำนวน 30,000 ราย นั่นหมายถึง ในทุก 15 นาที จะมีผู้หญิงถูกข่มขืน แต่มีเพียง 4,000 รายเท่านั้นที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีเพียง 2,400 คดีเท่านั้นที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี (ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง women’s access to justice ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งจากตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวอย่างคดีที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ ในขณะที่ยังมีความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ ในปี 2556 มีคดีความรุนแรงทั้งสิ้น 696 คดี

“กลไกในการให้คำปรึกษาจะเข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดความรุนแรงในครอบครัว เพิ่มช่องทางในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ซึ่งช่องทางดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชันหรือแชทบอท จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการเป็นที่ปรึกษา และนี่จึงเป็นที่มาของโครงการโปลิศน้อย แชทบอทที่จะเป็นเพื่อนให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำมีช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้น” พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม กล่าว

“โปลิศน้อย” จะเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการให้คำปรึกษา ลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อาจเกิดความไม่ไว้ใจในการให้ข้อมูล รวมถึงการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบความถูกต้องและความแม่นยำในการให้บริการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยดีแทค ที่ให้ทุนเบื้องต้น 100,000 บาท ในการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหุ่นยนต์ ซึ่งได้ ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประจำเทเลนอร์ เอเชียเข้ามาช่วยพัฒนาหุ่นยนต์โปลิศน้อย โดยปัจจุบัน อยู่ในขั้นการเพิ่มความแม่นยำของคำปรึกษาด้วยการป้อนข้อมูลเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถร่วมป้อนข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก “Police Noi โปลิศน้อย”

ดร.วินน์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ใช้อย่างแพร่หลายในเชิงธุรกิจแล้ว เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ยังนำมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาสังคมนานัปการ ซึ่งมีข้อดีคือการให้ข้อมูล 24 ชั่วโมง ตอบโต้ทันที และได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ

จากประสบการณ์ในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการสื่อสารที่ชื่อว่า “บอทน้อย” (Botnoi) ซึ่งมีผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านรายบนแอปพลิเคชันไลน์ พบว่าหุ่นยนต์สามารถเป็นเพื่อนคุยกับมนุษย์ได้ดี โดยเฉพาะการทำหน้าที่ “รับฟัง” สามารถช่วยยับยั้งการตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง Humanity in the Machine โดยเอเจนซี่โฆษณามายด์แชร์ สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ และไอบีเอ็มวัตสัน ระบุว่า ร้อยละ 63 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่ามนุษย์มีความสะดวกใจที่จะให้ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวกับหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์ เนื่องจากมีความไว้เนื้อเชื่อใจว่าจะไม่ถูกตัดสินจากผู้รับข้อมูลที่เป็นมนุษย์

“นี่ถือเป็นก้าวสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดช่องว่างที่เกิดขึ้นในอดีตได้” ดร.วินน์ กล่าว