สตาร์ทอัพเกษตรจับมือเกษตรกรสู้วิกฤตโควิด-19 ช่วยระบายสินค้าเกษตรไทย

1 May 2020 Startups

ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดถูกยกเลิก หรือชะลอการส่งออกสินค้าและราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ที่จะนำรูปแบบทางการตลาดใหม่ๆ ช่วยระบายสินค้าเกษตรไทย ให้เกษตรกรไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

“เมืองไทยสามารถทำการเกษตรได้ทุกชนิด…ทุกที่…ทุกเวลา…และทุกวัน” ทำให้ครองแชมป์อันดับหนึ่งทั้งด้านพื้นที่การปลูก ผลผลิต หรือปริมาณการส่งออกที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีอย่าง เช่น ข้าว ยาง มันสำปะหลัง จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นโยบายล็อคดาวน์และชัตดาวน์ เพื่อเฝ้าระวังการระบาดของแต่ละประเทศ ส่งผลต่อสินค้าการเกษตรของไทยโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้ ที่ช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงหน้าผลไม้ที่มีผลผลิตชนิดต่างๆ ทะยอยออกมาจำนวนมาก ทั้งมะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด เมื่อส่งออกไม่ได้ การสั่งซื้อของร้านอาหารและห้างสรรพสินค้า ลดลงไปเกือบร้อยละ 50 ทำให้เกิดสินค้าล้นตลาด ราคาถูกลง ซึ่งสินค้าเกษตรมีระยะเวลาจำกัดเพราะเกิดการเน่าเสียและเสียหายได้ง่าย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ Agro Business Creative Center ที่เรียกสั้นๆว่า ABC Center ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางด้านนวัตกรรมการเกษตร เพื่อเชื่อมโยง แสวงหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร ด้วยการสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรหรือสตาร์ทอัพเกษตร (AgTech Startup) ให้เติบโตในกลุ่มเศรษฐกิจเป้าหมายของประเทศและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ปรับเปลี่ยนจากการเพิ่งพาเศรษฐกิจจากพ่อค้าคนกลาง (Middle-Man Economy) โดยสร้างทางเลือกใหม่ของการพัฒนาตลาดเกษตร ที่มีการกระจายตัวของตลาดออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้เจรจาซื้อขายในราคาที่เป็นธรรม โดยสร้างกลไกการตลาดที่มีการเกื้อกูลกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคพบกันโดยตรง

นับได้ว่าเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับสภาวะนี้ ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากปกติผู้บริโภคซื้อสินค้าตามตลาดท้องถิ่นหรือศูนย์การค้า เปลี่ยนมาเป็นการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้เป็นโอกาสของการพัฒนาระบบตลาดในรูปแบบใหม่ที่จะเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพเกษตร จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการตลาดและการกระจายผลผลิตไปสู่ตลาด ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อแสวงโอกาสจากการค้าเสรี กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแพลต์ฟอร์มที่เป็นการออกแบบประสบการณ์ (Experiential Design) และช่องทางการขายออนไลน์ (Marketplaces) ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ไปสู่ผู้บริโภค ทั้งในรูปแบบ B2C B2B และ B2G ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

ตัวอย่างของสตาร์ทอัพเกษตรของไทย ที่มีแพลตฟอร์มการสร้างระบบตลาดใหม่ ได้แก่

ระบบเจ้าของร่วมผลิต เช่น ฟาร์มโต๊ะ เป็นแพลตฟอร์มให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากัน โดยเกษตรกรจะมีช่องทางการขายตั้งแต่เริ่มต้นการปลูก จะมีรายได้ที่ชัดเจน ส่วนผู้บริโภค จะได้รับสินค้าเกษตรตามความต้องการ มีมั่นใจในการคุณภาพของสินค้าเกษตรที่ได้ติดตามตั้งแต่วิธีการปลูก การดูแลได้อย่างใกล้ชิด จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ในลักษณะเป็นเจ้าของร่วมการผลิตสินค้าเกษตรชนิดนั้น ยกตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ที่เริ่มเปิดให้มีการจองผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้รับการตอบรับมากกว่าร้อยละ 75 นอกจากนี้เกษตรกร สามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาต่อยอดใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรได้อีกด้วย

ระบบการประมูลสินค้าเกษตร หรือ E-biding เช่น ครอปเปอร์แซด ที่เริ่มต้นจากพื้นฐานที่ทำระบบข้อมูลการเกษตรทำให้สามารถทราบจะมีพืชเกษตรอะไรออกช่วงไหน และคาดการณ์ผลผลิตได้ จึงนำข้อมูลมาช่วยสนับสนุนในการสร้างตลาดกับกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะโรงงานแปรรูปที่ต้องการสินค้าเข้าสู่สายการผลิตอย่างคงที่และสม่ำเสมอ จึงให้เกิดการประมูลราคาและปริมาณสินค้าของกลุ่มเกษตรกรโดยตรง จึงเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของตลาดและช่วยยกระดับภาคธุรกิจให้สามารถพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ควบคุมราคาและปริมาณได้ตรงตามความต้องการของตลาด

ระบบตลาดออนไลน์ หรือ Marketplace จะเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าสินค้าของเกษตรกรที่มีคุณภาพ ส่งต่อให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างประทับใจ ตัวอย่างเช่น มีแซ่ด เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงและแบ่งปันผลไม้ดี มีคุณภาพ จากใจเกษตรกร ที่พร้อมส่งผลไม้จากสวนตรงที่ผ่านการ คัดสรร สวนและเกษตรกรที่ใส่ใจในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก มีจิตใจมุ่งมั่นในการมอบผลไม้ที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค จึงมั่นใจได้ว่าผลไม้ที่มอบจากใจผู้ปลูกสู่ผู้บริโภคอย่างแน่นอน หรือ เอิร์ทออร์แกนนิค ที่มุ่งเน้นกลุ่มสินค้าเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ที่ร่วมควบคุมคุณภาพสร้างแบรด์สินค้าร่วมกับเกษตรกร เน้นอัตลักษณ์จากท้องถิ่น สดจากสวนส่งตรงถึงผู้บริโภค ด้วยการขนส่งที่มีคุณภาพ

ระบบการขายออนไลน์ส่งมอบให้ผู้บริโภคและธุรกิจเกษตร (B2B /B2C) จะช่วยสนับสนุนการขายสินค้าเกษตรผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ฟาร์มบุ๊ค แพลตฟอร์มระบบนิเวศสังคมเกษตรที่ให้เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ซื้อ และผู้ปริโภคมารวมตัวกันเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจแบบระบบลูกค้าหลายด้าน (Multisided Markets) ตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มของการเกษตร ร่วมกับการสร้างเครือข่ายนี้จะกระจายเป็นวงกว้าง เชื่อมกลุ่มคนจากทั่วทุกมุมโลกที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยจะมีการควบคุมตลอดห่วงโซ่การผลิต มีข้อมูลตลาดที่ชัดเจนสู่การวางแผนการผลิต จนสินค้าถึงมือผู้บริโภคหรือธุรกิจต่อเนื่อง อีกรูปแบบธุรกิจของสตาร์ทอัพเกษตรอย่าง เฟรชเก็ต เป็นตลาดสดออนไลน์สำหรับร้านอาหาร ที่มีแพลตฟอร์มสำหรับ ซัพพลายเออร์อาหารของสด เชื่อมต่อกับร้านอาหาร ได้อย่างอิสระตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง และกลุ่มที่น่าสนใจคือ เนเจอร์ฟู๊ด ที่มีแอปพลิเคชั้นสำหรับข้าวอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย สามารถซื้อขายสินค้าเกษตรและอาหาร ส่งถึงบ้าน และให้บริการส่งออกทั่วโลกแบบ One Stop Service ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เพื่อช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตร รวมทั้งทำให้คนในสังคมมีสุขภาพดี

ทั้งนี้สิ่งสำคัญ คือความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพิ่มเติมนอกจากสตาร์ทอัพด้านระบบตลาดแล้ว ที่จะทำให้เกิด “การพัฒนารูปแบบในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตสินค้าการเกษตรไปสู่ผู้บริโภคให้สามารถขยายผลและกระจายได้ในวงกว้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ในลักษณะของ Portal กลาง” ตัวอย่างเช่น กรมส่งเสริมการเกษตรในส่วนข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกร กลุ่มขนส่งสินค้าจากหลากหลายภาคส่วน รวมถึงกลุ่มสนับสนุนด้านต่างๆ

ก่อนหน้านี้ที่ทุกคนจะรู้จักสตาร์ทอัพสายเกษตรที่ขนส่งผักขายทั่วประเทศจีนอย่างเหม่ยช่าย ที่ได้รับการลงทุนระดับยูนิคอร์นมาแล้ว ดังนั้นถ้าร่วมมือสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยด้านการเกษตรที่ช่วยสนับสนุนการสร้างตลาดให้เกษตรกรไทย ที่สามารถมาตอบโจทย์สถานการณ์การทำงานที่บ้าน เว้นระยะห่างจากสังคม ที่เราจะอาจเห็นยูนิคอร์นของสตาร์ทอัพไทยที่รอคอยจากการเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสได้…และที่สำคัญยิ่งคือการช่วยเหลือเกษตรกรของไทยให้มีรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน