ฟัง “แซม ตันสกุล” เผยศักราชใหม่ “กรุงศรีฟินโนเวต”

15 June 2018 Startups

เอ่ยชื่อ “แซม ตันสกุล” เชื่อว่าสายสตาร์ทอัพหลายคนอาจร้องอ๋อ กับผู้บริหารเจ้าของแบรนด์ “กรุงศรีฟินโนเวต” ที่คุ้นตากันดี โดยในปีนี้ กรุงศรีฟินโนเวตภายใต้การบริหารของเขาเริ่มเข้าสู่ความคึกคักอีกครั้ง

หลังเจ้าตัวออกมาประกาศจัดโครงการ Krungsri RISE รุ่น 3 แล้วอย่างเป็นทางการ รวมถึงเป้าหมายในปีนี้ของกรุงศรีฟินโนเวตที่น่าติดตามไม่แพ้กัน

แซมเล่าว่า 1 ปีที่ผ่านมาสำหรับโครงการ Krungsri RISE นั้น เป็นการทำงานอย่างเข้มข้นกับธนาคารกรุงศรีฯ และพาร์ทเนอร์จำนวนมาก ภายใต้ 3 แกนหลักขององค์กร นั่นคือ 1.การทำเรื่องศูนย์บ่มเพาะกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ 2.คือทำงานกับสตาร์ทอัพ และ 3. คือการสวมหมวกนักลงทุน โดยหากพบว่าสตาร์ทอัพนั้นเป็นสตาร์ทอัพที่ดีจริง ก็พร้อมจะลงทุนให้

“คือพอทำแล้วก็ติดใจอยากได้สตาร์ทอัพดีๆ เข้ามาบ่มเพาะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาก็จะได้ทำงานร่วมกับธนาคารกรุงศรีฯ ด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าทำงานกับธนาคารกรุงศรีฯ ได้ เขาก็ไปทำกับที่อื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะที่นี่มีมาตรฐานค่อนข้างสูง อีกพาร์ทหนึ่งคือเราทำร่วมกับภาคการศึกษา เรามีกรุงศรียูนิสตาร์ทอัพ ล่าสุดเราใช้โมเดลที่เราทำโดยตรงกับสถาบันการศึกษา จัดแฮกกาตอนกับนักศึกษาสายคอมพิวเตอร์นาน 60 ชั่วโมงก็เคยมาแล้ว วัตถุประสงค์คือเพื่อให้นักศึกษารู้จักการทำงานแบบสตาร์ทอัพ รู้จักวิธีเขียนโค้ดแบบเร่งด่วน”

เบื้องลึกเบื้องหลังของการทำงานกับสตาร์ทอัพ ยังทำให้เขาตระหนักดีถึงปัญหาสำคัญที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีบ้านเราประสบอยู่ นั่นคือการขาด Tech Talent อย่างรุนแรง

“เราเข้าไปบอกกับทางมหาวิทยาลัยเลยว่า Tech Talent เราไม่พอนะ ขอเราเข้าไปจัดกิจกรรม ขอเราเข้าไปช่วยสอนได้ไหม เรายินดีจะช่วยเข้าไปส่งเสริมให้มี Tech Talent ให้มากขึ้น เราจะได้มีน้องๆ เข้ามาช่วยเราทำงานกันมากขึ้นด้วย”

แซมยังได้เล่าถึงขาที่ 2 ของกรุงศรีฟินโนเวต นั่นก็คือการทำงานกับสตาร์ทอัพ “เราอยากทำงานกับสตาร์ทอัพด้านฟินเทคให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะธนาคารเองคงไม่สามารถจะเดินไปคนเดียวแล้วคิดอินโนเวชั่นได้ตลอดเวลา พนักงานทุกคนมีงานประจำต้องทำอยู่แล้ว ไม่มีเวลาคิด หรือคิดได้ไปเสนอไอที กว่าจะได้ทำอีกสองปีข้างหน้าก็สายเสียแล้ว”

“เราจึงเลือกทำกับสตาร์ทอัพ ทำแล้วเรามี API เชื่อมต่อโดยตรง จุดนี้ทำให้เราออกโปรดักส์ได้เร็วขึ้น”

แซมเผยว่า ปีนี้กรุงศรีฟินโนเวตตั้งใจว่าจะทำงานกับ 40 สตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันได้มาแล้ว 10 กว่าราย เหลืออีก 20 กว่าสตาร์ทอัป “ ก็หวังว่า Krungsri RISE จะเป็นสะพานให้เราเจอสตาร์ทอัปมากขึ้น”

ช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องมีการลงทุนด้วย ซึ่งในจุดนี้ แซมเล่าว่า กรุงศรีฟินโนเวตได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ถึง 1,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนในบริษัทต่างๆ ในไทยอย่างน้อย 4 บริษัท

“สตาร์ทอัพที่เราจะลงทุนคือซีรีส์เอขึ้นไป และมีโปรดักส์ที่เริ่มขายทั่วประเทศแล้ว เงิน 3 ใน 4 จะลงทุนกับสตาร์ทอัพโดยตรง ส่วนเงิน 1 ใน 4 จะลงทุนผ่านกองทุนที่อยู่ต่างประเทศ เหตุผลคือเรดาห์เราอาจจะไปได้ไม่หมด จึงต้องให้กองทุนต่างประเทศเป็นเรดาห์เสาะหาสตาร์ทอัพให้เราด้วย”

ทุกวันนี้ งบประมาณที่เตรียมไว้ แซมเล่าว่าใช้ไปแล้วเกือบสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะลงทุนอย่างน้อย 4 บริษัท และขอโฟกัสไว้ที่สตาร์ทอัพในเมืองไทย แต่ถ้าเทคโนโลยีนั้นในเมืองไทยยังไม่มี เราจะขอไปลงทุนต่างประเทศ แล้วนำเทคโนโลยีนั้นกลับมาเผยแพร่ในเมืองไทย

สำหรับจุดเด่นของโครงการ Accererlator อย่าง Krungsri RISE ในปีนี้ คือจะเริ่มใช้วิธีการใหม่ KrungsriRise Pitch&Plug ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพสมัครเข้ามาได้ทุกเดือน สามารถนำเสนอไอเดียให้กับหน่วยธุรกิจได้เลย ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับคือโครงการจะได้สตาร์ทอัพที่พร้อมจริงๆ ไม่ใช่บางรายยังไม่พร้อม แต่โครงการเปิดแล้วจึงต้องรีบสมัครเข้ามา และใครที่ผลงานดี ก็พร้อมจะย้ายไปเข้าบูทแคมป์ที่จะจัดในช่วงปลายปีได้ด้วยนั่นเอง