4 วิธีดึงดูดและรักษาผู้หญิงเก่งทำงานในสายเทคโนโลยี

11 October 2018 Lifestyle

แม้ว่าปัจจุบันโลกจะพึ่งพาเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คน ทั้งในการทำงาน และการใช้ชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ก็คือ การดึงบุคลากรหญิงให้อยู่ในสายงานอาชีพนี้

โดยมีการสำรวจของแฮกเกอร์แรงค์ (HackerRank) พบว่า มีผู้หญิงเพียง ร้อยละ 26 เท่านั้นในโลกของการทำงานด้านเทคโนโลยี และตำแหน่งของพวกเธอก็อยู่ในระดับจูเนียร์ หรือไม่ก็ผู้บริหารระดับกลาง ไม่ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในระดับสูงเหมือนผู้ชายด้วย

ที่น่าสนใจ คือในงานสายเทคโนโลยี เมื่อเทียบระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไปนั้นพบว่า ผู้หญิงยังทำงานในตำแหน่งจูเนียร์มากกว่าผู้ชายถึง 3.5 เท่า หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปีในงานสายนี้ร้อยละ 20 อยู่ในตำแหน่งผู้ปฏิบัติการระดับเริ่มต้น

ชาริ บัค ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินค้าของ Doximity บริษัทซึ่งมีพนักงานผู้หญิงร้อยละ 43 เผยว่า หากบริษัทเทคโนโลยีต้องการ “รักษา” พนักงานผู้หญิง และทำให้พวกเธอเติบโตบนเส้นทางสายนี้ สามารถทำได้โดย

1.สร้างระบบพี่เลี้ยงให้พวกเธอ

Information Systems Audit and Control Association หรือ ISACA ได้ทำสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา และพบว่าผู้หญิงในสายงานเทคโนโลยีเจอความท้าทายมากกว่าผู้ชายในหลายด้าน เช่น การไม่มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา ร้อยละ 48 การไม่มีต้นแบบที่เป็นผู้หญิง ร้อยละ 42 ดังนั้น การที่องค์กรมีระบบพี่เลี้ยงช่วยซัพพอร์ต จะช่วยให้พวกเธอก้าวข้ามความท้าทายในสายงานไอทีได้ดีขึ้น

ยกตัวอย่าง ที่ Doximity ในวันแรกที่รับพนักงานหญิงเข้ามา จะมีการกำหนดเลยว่าใครจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงานคนนั้น เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำและตอบคำถามต่างๆ เช่น ทักษะด้านใดที่จำเป็นต้องพัฒนาเพื่อให้เติบโตไปในสายงานได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ทางบริษัทยังมีกลุ่ม Women@Dox ที่เปิดโอกาสให้ผู้จัดการและพนักงานหญิงได้รับประทานอาหารร่วมกันแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้พนักงานหญิงสามารถถามคำถาม หรือคุยในประเด็นการพัฒนาทักษะส่วนตัวได้

2.อย่าละเลยเสียงจากพนักงานหญิง

การฟังเสียงพนักงานทั้งชายและหญิงเป็นสิ่งที่บริษัทควรทำ และควรใส่ใจให้น้ำหนักเท่าๆ กัน โดยบริษัทอาจต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานสามารถเดินเข้าไปพูดคุย รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และใครที่มีไอเดียดีๆ ก็ร่วมกันทำให้สำเร็จ นอกจากนั้น ควรมีช่วงเวลาในการปรับปรุงผลงาน ให้พนักงานพิจารณาการทำงานของตัวเองในปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านบวกและลบ รวมถึงไอเดียว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไรด้วย

3.ต้องแสดงความมุ่งมั่นที่จะรักษาพนักงานเอาไว้

มีหลักฐานชี้ว่า พนักงานหญิงที่ทำงานในสาขาไอทีประมาณ 12 ปีจะลาออกไปทำอย่างอื่น เพราะรู้สึกโดดเดี่ยว หรือไม่อยากอยู่ในสายงานนี้ต่อไป แต่บริษัทที่มีการพัฒนาทักษะให้พนักงานอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างขวัญกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ จะไม่เผชิญปัญหานี้ นอกจากนั้น ผู้บริหารต้องพยายามหาจุดเด่นของพนักงาน และพัฒนาจุดเด่นนั้นให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

การเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้พนักงานก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ที่ Domixity ในทุกๆ สัปดาห์จะมีช่วงรับประทานอาหารกลางวันฟรีร่วมกัน ซึ่งทำให้พนักงานสามารถพบปะกับพนักงานจากแผนกอื่นๆ และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ภายในบริษัทได้

4.ทำองค์กรให้สมดุล

ชาริเล่าถึงเมื่อครั้งก่อตั้ง Doximity เมื่อ 8 ปีก่อน เธอต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเป็นแม่ และการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพ และเมื่อมาคุยกับหุ้นส่วนก็พบว่าเจอปัญหาเดียวกัน พวกเธอจึงริเริ่ม “ทำงานจากที่บ้านในวันพุธ” การติดต่อสื่อสารระหว่างกันก็สามารถทำได้ผ่านอุปกรณ์ไอที ซึ่งพบว่า พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทาง และพนักงานยังมีเวลามากพอที่จะไปหาหมอ หรือไปเป็นอาสาสมัครในห้องเรียนของลูก

ที่สำคัญ ชาริพบว่า การให้ทำงานจากบ้านได้ในวันพุธนี้ช่วยลดเปอร์เซ็นต์การหยุดงานของพนักงานลงได้ด้วย และเมื่อพนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศวันพฤหัสบดี พวกเขาก็มีพลังมากกว่าเดิมด้วยนั่นเอง


อ้างอิง: entrepreneur.com