3 กูรูแนะ สตาร์ทอัพ TravelTech โตอย่างไรให้ยั่งยืน

28 September 2018 Startups

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ถูกส่งต่อออกไปต่างประเทศจนกลายเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนบ้านเราเพิ่มมากขึ้นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลักเข้าประเทศนี้ อาจไปต่อได้ไม่เร็วเท่าที่ควร หากขาดซึ่งคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยพัฒนา

นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดโครงการ “TAT Startup ผู้ประกอบการยุคใหม่” เพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพมาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน ภายในงาน ยังได้รับคำแนะนำจากผู้คร่ำหวอดด้านการท่องเที่ยวอย่าง นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เผยว่า “สิ่งที่สตาร์ทอัพควรรู้ก่อนมุ่งสู่ TravelTech มี 3 ข้อ นั่นคือ ต้องรู้ว่าใครเป็นลูกค้า และต้องเข้าใจจริตของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวจีนอาจจะชอบของดีราคาถูก และยอมจ่ายเพิ่มได้ในภายหลัง ตรงข้ามกับนักท่องเที่ยวตะวันตก ที่ต้องชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้เรียบร้อยก่อน และจะไม่พอใจมากหากมีการเก็บเงินเพิ่มเติม โดยผู้ให้บริการอาจถูกมองว่าฉ้อโกงได้”

“ข้อต่อมาคือต้องรู้เป้าหมายของตัวเองว่าจะสร้างบริการที่ทุกคนอยากใช้งานได้อย่างไร เนื่องจากประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาปีละ 35 ล้านคน เราไม่สามารถขายสินค้าของเราให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้ แต่ละตลาดมีฤดูกาลของมัน การเข้าใจในจุดนี้จะทำให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้ดีขึ้น และข้อสุดท้ายคือต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า จึงจะเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ไม่เพียงแต่ลูกค้าที่สตาร์ทอัพต้องให้ความสนใจ บุคคลสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยสตาร์ทอัพได้ก็คือ “นักลงทุน” ซึ่ง “ณิชาภัทร อาร์ค” Screening Committee ของ Bangkok Venture Club ก็มีคำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพในสาย TravelTech ว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไรให้โดนใจนักลงทุนมาฝากกันด้วย นั่นคือ

  1. ทีมงาน – นักลงทุนระดับโลกจะดูทีมงานสตาร์ทอัพเป็นอันดับแรกว่าเป็นคนที่เขาอยากทำงานด้วยหรือไม่ เพราะจะต้องทำงานด้วยกันไปอย่างน้อย 4 – 5 ปี
  2. Pain Point ที่สตาร์ทอัพต้องการเข้ามาแก้ปัญหานั้น สามารถสเกลไปยังประเทศอื่นได้ไหม หรือเป็นปัญหาแค่เฉพาะในเมืองไทยประเทศเดียว
  3. โซลูชันที่จะใช้ในการแก้ปัญหาว่าเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงหรือไม่
  4. มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขยายการเติบโตอย่างไร
  5. แอปฯ ตัวนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของคนหรือไม่ ตัวอย่างเช่น Airbnb, Grab
  6. ความเชี่ยวชาญ – ความสนใจ – เครือข่ายของนักลงทุนว่าเกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพนั้นๆ หรือไม่
  7. สตาร์ทอัพนั้นๆ มีความคิดที่จะเติบโตในระดับโลกหรือไม่ (ถ้ามี ต้องคิดและนำเสนอตั้งแต่วันแรกที่ทำสตาร์ทอัพ)

ณิชาภัทรมองว่า การระดมทุนได้ไม่ใช่ทั้งหมดของสตาร์ทอัพ และหลังการระดมทุนยังจะมีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามมา เช่น การมีนักลงทุนเข้ามาร่วมงานด้วย รวมถึงการมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ตามมา ซึ่งอาจจะสร้างความไม่สะดวกสบายให้ทีมเหมือนในอดีตนั่นเอง

คำแนะนำสุดท้ายสำหรับสตาร์ทอัพมาจากนายชิตพล มั่งพร้อม ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท แสนรู้ (Zanroo) บริษัทด้าน MarTech สัญชาติไทยที่เผยว่า ความท้าทายของสตาร์ทอัพคือ “คน” “สิ่งสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพคือคน สตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จได้ก็เพราะมีทีมงานที่ดี” โดยนายชิตพลเผยว่า รูปแบบการสร้างทีมงานในแบบสตาร์ทอัพนั้น มีทั้งสิ้น 4 ระดับ ได้แก่ – วันแมนโชว์ ช่วงเริ่มต้น ทีมสตาร์ทอัพต้องทำเองหมดทุกอย่าง รวมถึงอาจจะส่งเอกสารให้ลูกค้าเองด้วย – Emergency Player เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการหาคนมาทำงานแทน ซึ่งอาจเกิดการจ้างงานผิดพลาด หากคนที่จ้างมาไม่สามารถทำได้อย่างที่เราคาดหวัง – การสร้างวัฒนธรรมองค์กร (culture planning) เป็นช่วงเวลาที่ยากขึ้นอีกระดับ เมื่อทีมต้องหาทางผสมผสานคนที่มาจากหลากหลายช่วงอายุ และต้องบริหารความต้องการของคนในแต่ละช่วงวัยให้ลงตัว เช่น คน GenX อาจต้องการประกันสุขภาพ ประกันชีวิต แต่คน GenY ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน วันลาพักผ่อนยาวๆ เป็นต้น – ช่วงที่ทีมผู้ก่อตั้งกลายเป็นผู้บริหารกำหนดทิศทางองค์กร ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอนหากผ่านทั้งสามข้อแรกมาได้

นายชิตพลยังได้ฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “สิ่งที่เป็นความท้าทายของสตาร์ทอัพก็คือ วันฝันกับวันจริงนั้นแตกต่างกัน สิ่งต่างๆ ที่ฝันเอาไว้ หรือสิ่งที่เอามาพรีเซนต์ให้นักลงทุนฟัง ต่อให้คิดมาดีแค่ไหนมันก็คือการฝัน แต่วันจริงมันมีเรื่องของทีมมาเกี่ยวข้อง เรื่องของความขัดแย้ง เรื่องของเงิน เรื่องของคน ได้เงินมาแล้วผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะมีปัญหากันไหม ใครทำงานหนักกว่ากัน มีใครควรได้รับส่วนแบ่งเพิ่มไหม หรือรับเงินคนอื่นมาแล้วจะใช้อย่างไร ต้องทำ budget planning ไหม เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดและเตรียมความพร้อมมาก่อนทั้งสิ้น”

Startup-travelTech 1
Startup-travelTech2
Startup-travelTech4
Startup-travelTech5
Startup-travelTech6
Startup-travelTech7
Startup-travelTech8
Startup-travelTech9
Startup-travelTech10
previous arrow
next arrow