10 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

16 July 2018 Technology

สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คาดการณ์ 10 แนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ สังคม และชีวิตมนุษย์ ซึ่งจะเป็นแนวทางให้กับนักวิจัยและสตาร์ทอัพได้นำมาใช้ประโยชน์ต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งความสำเร็จต้องอาศัยจินตนาการและประสานเชื่อมโยงหลากหลายเทคโนโลยี

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และทีมวิจัยสวทช. มอง 10 เทคฯ เปลี่ยนโลก ประกอบด้วย

1. เทคโนโลยีการใช้แบคทีเรียช่วยลดยุงที่เป็นพาหะในโรคร้ายแรง  (Mosquito-targeted Wolbachia) เป็นทางเลือกใหม่ที่ลดความเสี่ยงของการระบาดโรคไข้เลือดออก ซิก้า และชิกุนกุนยาได้ และมีต้นทุนต่ำคือค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อประชากรเท่านั้น ปัจจุบันมีบริษัท Startup ในสหรัฐฯ ที่ผลิตเทคโนโลยีลดยุงแบบนี้ออกจำหน่ายด้วย ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งทางเลือกสำคัญในการกำจัดยุงในพื้นที่อื่นๆ ของโลก เช่น ในทวีปแอฟริกา รวมทั้งประเทศไทย

2. วัคซีนกินได้ (Edible Vaccine) วัคซีนนี้ผลิตขึ้นในพืช เช่น พืชอาหารต่างๆ ตัวอย่างพืชที่เคยมีการทดลอง ได้แก่ มันฝรั่ง ยาสูบ กล้วย มะเขือเทศ ผักกาดหอม ข้าวโพด ถั่ว และข้าว โรคที่ศึกษาก็มีตั้งแต่โรคท้องเสีย โรคตับอักเสบบี โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หวัดนก ฯลฯ โดยการทำพืชวัคซีนแบบนี้ ต้องนำสารพันธุกรรมของเชื้อโรคใส่เข้าไปในพืช อาศัยแบคทีเรียพวก Agrobacterium นำสารพันธุกรรมเข้าไป เมื่อคัดเลือกพืชที่รับเอาสารพันธุกรรมดังกล่าวเข้าไปได้แล้ว ก็นำมาเพิ่มจำนวน และใช้รับประทานเป็นวัคซีนได้ต่อไป

3. เซลล์สำหรับทดสอบยา เป็นการนำเซลล์ผู้ป่วยมาทำให้เป็นสเต็มเซลล์แบบพิศษ iPSC ก็จะสามารถนำมาทดสอบยาได้โดยตรง และได้คำตอบที่รวบรัดชัดเจนว่า ยาที่ต้องการใช้ทำให้เซลล์ผู้ป่วยคนนั้น มีปฏิกิริยาทางลบหรือจะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ จึงเป็น แนวทาง “การแพทย์ส่วนบุคคล” (Personalized Medicine) ซึ่งเป็นการรักษาแบบจำเพาะกับบุคคล นอกจากนี้คลังของเซลล์แบบนี้ยังนำมาใช้ทดสอบยา หรือทดสอบแบบอื่นได้เป็นอย่างดี ทดแทนการทดสอบในสัตว์ทดลองได้ด้วย

4. การบำบัดส่วนบุคคล (Personalized Therapy) หัวใจหลักของการรักษาแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ จะประกอบด้วยความรู้ 2 ส่วนส่วนแรกมาจากความรู้เกี่ยวกับการสร้างสเต็มเซลล์อย่างง่ายๆ สเต็มเซลล์เป็นเซลล์ที่สามารถนำมาใช้ซ่อมแซม หรือสร้างทดแทนเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่สึกหรอไปได้  ส่วนที่ 2 คือ “ตั้งโปรแกรมใหม่” หรือ reprogramming cell ซึ่งช่วยเปลี่ยนเซลล์ร่างกายแบบอื่นๆ ที่มีจำนวนมาก เช่น เซลล์ผิวหนังให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ได้ โดยการใส่ดีเอ็นเอจำเพาะไม่กี่ชิ้น เกิดเป็นสเต็มเซลล์แบบพิเศษที่เรียกว่า iPSC

การผสมผสานเอาเทคนิคทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน จึงทำให้การรักษาโรคเป็นแบบจำเพาะเจาะจงกับคนนั้นๆ อย่างมากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตัวอย่างโรคแรกๆ ที่มีการทดลองไปคือ โรคจอตาเสื่อม เป็นต้น

5. เข็มจิ๋วอัจฉริยะ (Intelligent Nano-Needle) อาศัยลักษณะของเข็มที่เล็กมาก ทำให้ผู้ที่ถูกเข็มเหล่านี้จิ้มจะไม่รู้สึกเจ็บ ปัจจุบันเข็มเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเชื่อมต่อกับตัวตรวจจับ หรือตัวรับสัญญาณหรือ sensor ทำให้ตรวจวัดการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายตามเวลาจริงได้เพื่อให้เห็นภาพ

6. วาล์วจิ๋วส่งยา (Nano-Valve) เป็นการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี มาสร้าง “วาล์ว” หรือ ลิ้นปิด-เปิดระดับนาโน ประกอบเข้ากับกับนาโนพอร์ จะเกิดเป็น “นาโนวาล์ว” ทำให้ได้ระบบนำส่งโมเลกุลหรือยาไปสู่เซลล์เป้าหมายและสามารถควบคุมการปลดปล่อย ณ ตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำอีกด้วย  เมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการนำส่งโมเลกุลแบบมุ่งเป้าระดับนาโน โดยใช้ตัวพาที่เป็นอนุภาคนาโนที่จำเพาะกับโมเลกุลหรือเซลล์เป้าหมาย ก็อาจจะช่วยในการรักษาโรคได้

7. การพิมพ์โลหะสามมิติ (Metal 3D Printing) ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เราจะมีเครื่องพิมพ์โลหะสามมิติไว้ใช้ตามออฟฟิศได้ โดยใช้วิธีพิมพ์แบบดันวัสดุ (Material Extrusion) ซึ่งมีหลักการเดียวกับการพิมพ์พอลิเมอร์สามมิติที่มีใช้ทั่วไปในปัจจุบัน ผงโลหะที่ผสมกับพอลิเมอร์จะถูกดันผ่านหัวฉีดขึ้นมาเป็นชั้นๆ ไม่ต้องใช้เลเซอร์หรือลำแสงอิเล็กตรอน และไม่มีผงโลหะส่วนเกิน ทำให้วางเครื่องประเภทนี้ในออฟฟิศได้เลย จึงพิมพ์ได้รวดเร็วขึ้น ราคาเครื่องพิมพ์ก็จะถูกลง

8. วัสดุดูดซับเสียงออกแบบได้(Customized Sound Absorber) นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. พัฒนาโฟมอะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติเด่น คือ ดูดซับเสียงที่ความถี่เสียงต่างๆ ได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ออกแบบโดยใช้วัสดุทรงกลมซึ่งสามารถทนอุณหภูมิสูง และมีพื้นผิวรูปแบบต่างๆ เป็นวัสดุที่ทำให้เกิดรูพรุนรูปแบบต่างๆ ภายในโฟมอะลูมิเนียม ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแบบเดิมถึงร้อยละ 50 ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย

9. เทคโนโลยีไซเบอร์–ฟิสิคัล (Cyber–Physical Technology) เมืองกายภาพและเมืองไซเบอร์จะเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายเซนเซอร์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หลากหลายชนิด เกิดความเป็นเมืองแบบ Cyber–Physical City ซึ่งจะเกิดโอกาสทางธุรกิจแบบใหม่จำนวนมาก ทั้งธุรกิจบริการ มีตัวอย่างบ้างแล้ว เช่น ระบบจัดการจราจรที่เรียกว่า City Brain ของ Alibaba ที่ทำงานผ่านกล้อง CCTV และ Cloud Computing AI จนทำให้การจราจรเมืองหางโจวของจีนคล่องตัวขึ้นถึงร้อยละ 15 และกำลังขยายมาสู่ประเทศอาเซียนอื่น เช่น มาเลเซีย

10. เทคโนโลยีแช็ตบอต (Chatbot Technology) ในอนาคตอันใกล้ มนุษย์จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่คีย์บอร์ด เมาส์ หรือทัชสกรีน แต่เป็นการสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติ ผ่านเทคโนโลยีแช็ตบอต ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์พูดคุย สั่งงาน และสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้เช่นเดียวกับการสนทนากับคนด้วยกันเอง


อ้างอิง:  Bangkok Post