เปิด 7 วิธีดูแล ยุคที่แม้แต่เด็กก็ “ออนไลน์”

24 July 2018 Lifestyle

ในยุคปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าความรุนแรงบนอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นเด็กเข้ามาร่วมใช้งานด้วยมากขึ้นทุกที จึงเป็นหน้าที่ของสังคมในการเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ เหล่านี้พร้อมรับมือและปฏิบัติตนให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน

เรนี ทารุน รองประธานฝ่ายความปลอดภัยด้านสารสนเทศ ฟอร์ติเน็ต ในฐานะผู้นำด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเธอมองว่าอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับเด็กๆ เพราะมีสื่อการเรียนการสอน เกมสนุกๆ รวมถึงเพื่อนๆ อยู่มากมายเต็มไปหมด อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า อินเทอร์เน็ตยังเป็นแหล่งรวมของการกลั่นแกล้ง ข้อมูลปลอม และอาชญากรด้วยเช่นกัน และหากเด็กๆ ไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมในจุดนี้ ก็อาจเผยข้อมูลส่วนตัว รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ในครอบครัวให้กับอาชญากรร้ายเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัวได้

เรนีกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เธอเป็นแม่ของลูกๆ ทั้งสองคน เธอตระหนักดีว่า ช่วงปิดซัมเมอร์เป็นช่วงที่เด็กๆ มีโอกาสอยู่บนโลกออนไลน์มากที่สุด ดังนั้น เธอจึงมีคำแนะนำมายังผู้ปกครองให้ดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ไว้ดังนี้

1. คุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังในการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงการตั้งกฎต่างๆ เช่น จะเล่นได้นานแค่ไหน, เว็บไซต์ใดที่ได้รับอนุญาตให้เข้า, โปรแกรมอะไรที่ใช้งานได้บ้าง และกิจกรรมอะไรที่เด็กๆ ได้รับอนุญาตให้ทำหรือเข้าร่วมได้บนโลกออนไลน์ โดยอาจอิงตามความเหมาะสมของอายุหรือพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน

2. ข้อมูลเป็นเรื่องที่ต้องเก็บเป็นความลับ

เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องทำให้มั่นใจว่า มีการตั้งค่าด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลให้ลูกเอาไว้แล้วเรียบร้อย เพื่อป้องกันคนแปลกหน้าเข้ามาดึงข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ระบบมักไม่ได้ตั้งค่าในจุดนี้ไว้ให้ และผู้ใช้งานต้องเข้าไปกำหนดเอง

นอกจากนั้น ยังต้องสอนลูกด้วยว่า

  • ห้ามให้ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ อีเมลแอดเดรส พาสเวิร์ด ที่อยู่ ชื่อโรงเรียน หรือภาพถ่ายใดๆ กับบุคคลภายนอก หากพ่อแม่ไม่อนุญาต
  • ห้ามยุ่งเกี่ยวกับโพสต์ที่มีเนื้อหารุนแรงต่อจิตใจ
  • ห้ามเปิดอีเมลหรือไฟล์ที่มาจากคนไม่รู้จัก
  • ห้ามออกไปพบกับคนที่เด็กๆ เจอบนโลกออนไลน์

3. บอกลูกเกี่ยวกับอันตรายของอินเทอร์เน็ต เพื่อให้พวกเขาระมัดระวังไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านั้น

4. ดูแลด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ต พ่อแม่ต้องรับรู้ว่าลูกๆ เล่นอะไรบนอินเทอร์เน็ตบ้าง รวมถึงเว็บไซต์ที่พวกเขาเข้าไปเยี่ยมชม อีเมล แชทต่างๆ ด้วย เพื่อให้พ่อแม่ทราบว่าลูกๆ คุยกับใคร หรือมีการใช้งานในลักษณะใด

5. วางคอมพิวเตอร์ไว้ในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กทำสิ่งที่ไม่ควรทำ และยังช่วยให้พ่อแม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม หรือขัดจังหวะได้ในกรณีที่อาจเกิดภัยกับลูกๆ

6. ติดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) บางรายจะมีบริการที่ช่วยพ่อแม่จำกัดสิทธิเด็กๆ ในการเข้าชมเว็บไซต์หรือคอนเทนต์ออนไลน์อื่นๆ เช่น แชท อีเมล ตามอายุและความเหมาะสม

7. ตั้งค่า Parental Controls พ่อแม่สามารถเข้าไปตั้งค่าในเบราเซอร์ เพื่อจำกัดรายชื่อเว็บไซต์ที่เด็กๆ สามารถเปิดได้จากคอมพิวเตอร์ และควรตั้งพาสเวิร์ดป้องกันไม่ให้เด็กๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงการตั้งค่านั้นได้