ก.วิทย์ฯ ผนึก 12 มหาวิทยาลัย ตั้งกระทรวงขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรม

11 July 2018 Startups

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประชุมความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัย 12 แห่ง เรื่องแนวทางการดำเนินงานของ “สถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ”

ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสถาบันที่อยู่ภายใต้ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม” ที่กำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง พร้อมทั้งปรึกษาหารือกับอธิการบดีจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัย 12 แห่งของประเทศไทย เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งการวิจัยและนวัตกรรมขึ้น

โดยการประชุมในครั้งนี้ มีการพูดถึงหลักการในการจัดตั้งกระทรวงใหม่ รวมทั้งกลุ่มที่จะอยู่ในกระทรวงนี้ โดยมี 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มนโยบาย ยุทธศาสตร์ 2) กลุ่มการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) กลุ่มการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 4) กลุ่มการอุดมศึกษา ซึ่งหลักการและข้อเสนอนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากมหาวิทยาลัยวิจัยทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยนเรศวร

“หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ให้จัดตั้งกระทรวงใหม่ที่จะเป็นกระทรวงแห่งอนาคต เป็นแหล่งรวมของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อตอบโจทย์ของประเทศไทยที่ต้องขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมถึงการนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยกระทรวงใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นมีกลไกบริหาร 2 ภารกิจ ได้แก่ 1.ระดับนโยบายและจัดสรรทุน และ 2.ระดับปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งภารกิจออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการอุดมศึกษา และด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคสังคมหรือชุมชนด้วย”

สำหรับโครงสร้างของกระทรวงใหม่จะมีสถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (National Institute of Science, Technology, and Innovation: NISTI) ที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยขั้นแนวหน้า การวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยประยุกต์ เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยและพัฒนาอยู่แล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าหน่วยงานวิจัยทั้งหลายควรมาทำงานร่วมกันผ่านกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น โดยจะมีการตั้งกรรมการบริหาร ที่มีประธานเป็นเมธีหรือผู้ทรงคุณวุฒิ มีกรรมการจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และหน่วยงานในกระทรวง โดยจะสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ประเทศทั้งสาม ระดับ ได้แก่ โจทย์ระดับประเทศ โจทย์ระดับภูมิภาค และโจทย์ในท้องถิ่น

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า “ในขั้นต่อไปเราจะต้องมีการลงลึกในรายละเอียด ทั้งเรื่องของพันธกิจ นโยบาย กระบวนการปฏิรูปของทั้งหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ และมหาวิทยาลัย ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น มีการเคลื่อนย้ายบุคลากรได้อย่างคล่องตัวระหว่างหน่วยงานวิจัย และมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับความสามารถ เพื่อช่วยให้เกิด Interdisciplinary research รวมทั้งระบบงบประมาณที่จะต้องเป็น Agenda based ที่ครอบคลุมระยะเวลาหลายปีจนจบโครงการ นอกจากนั้นยังรวมถึงข้อกฎหมายที่ได้เริ่มผลักดันไปแล้ว ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยนำผลงานนวัตกรรมออกมาผลิตเป็นสินค้าได้ สามารถตั้งบริษัทและส่งเสริมการ Spin off ออกมาเป็น Tech-based startup นอกจากนี้เราจะจัดทำโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่กระทรวงวิทย์ฯ ได้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น Food Innopolis, Regional Science Park และ Innovation Hub ซึ่งที่ผ่านมามีผลดำเนินงานที่ดี มหาวิทยาลัยมีการสร้าง Platform ระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันเองและกับภาคเอกชน เป็นแนวทางที่สามารถขยายผลต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งจะสอดรับกับการตั้งกระทรวงใหม่นี้ด้วย และอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กับวิทยาศาสตร์ คือ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจากการหารือในวันนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็เห็นด้วยกับการที่ภายใต้กระทรวงใหม่ เราจะให้ความสำคัญกับศาสตร์ด้านนี้มากขึ้น ทั้งเรื่องของการวิจัยด้วยโจทย์ระดับชาติอย่าง Research procurement การเป็นแหล่งข้อมูล การวิเคราะห์เพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นสำคัญของชาติที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาวะโลกร้อน การตัดต่อพันธุกรรม และปัญหาสิ่งแวดล้อม”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการสรุปชื่อของกระทรวงใหม่อย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าชื่อที่ได้จะต้องสื่อถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการอุดมศึกษาเป็นสำคัญอย่างแน่นอน

Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
previous arrow
next arrow
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
Startup-Ministry
previous arrow
next arrow