อีคอมเมิร์ซครึ่งปีหลังแข่งโหด สินค้าจีนทะลักไทย

9 July 2018 Investment

ไพรซ์ซ่าฟันธง อีคอมเมิร์ซไทยโตต่อเนื่องถึงปี 2025 หลังยักษ์อีคอมเมิร์ซแข่งเดือด ดันสินค้าจีนทะลักตลาดไทยแจ้งเกิดการค้าข้ามพรมแดน

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด สตาร์ทอัพผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) เปิดเผยข้อมูลสถิติเชิงลึกของไพรซ์ซ่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ว่า มีผู้เข้าเยี่ยมชมไพรซ์ซ่าผ่านทั้งเว็บไซต์และแอปฯ กว่า 70 ล้านครั้ง ขณะนี้จำนวนสินค้าบนแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่าเติบโตขึ้นร้อยละ 28 จากจำนวน 28 ล้านชิ้น ในช่วงปี 2560 เป็นจำนวน 36 ล้านชิ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ

สาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น มาจากการเติบโตของกลุ่มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือ Cross border ทำให้การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีฐานข้อมูลสินค้าประเภทนี้บนแพลทตฟอร์มไพรซ์ซ่า 17 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดช่วงต้นปี เมื่ออาลีบาบาพยายามผลักดันสินค้าจากจีนผ่านลาซาด้า

และคาดว่าช่วงครึ่งปีหลัง มาร์เก็ตเพลสจะยิ่งมีแนวโน้มแข่งขันกันดุเดือดขึ้น เนื่องจากมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่จากต่างชาติที่เข้ามา เจดี เซ็นทรัล เริ่มบุกตลาดหนักขึ้น

ขณะเดียวกัน รายที่เคยพักการทำตลาดในไทยก็หวนคืนสู่ตลาดประเทศไทยอีกครั้ง ยังไม่แน่ว่าอาจมีการทำ Cross border เกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือไม่

ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงจำเป็นต้องปรับตัว เพิ่มกลยุทธ์และจุดขาย เพื่อรองรับการแข่งขันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รวมถึงการแข่งขันกับสินค้าข้ามพรมแดนจากต่างชาติ

จากสถิติเราพบว่า ผู้ซื้อไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าที่ราคาต่ำสุด กว่าร้อยละ 80 เลือกจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และมีข้อเสนอที่แตกต่าง เช่นการส่งที่รวดเร็วหรือบริการที่ดี และมีเพียงร้อยละ 20 ที่เลือกจากราคาต่ำสุด

จากข้อมูลเชิงลึกของไพรซ์ซ่าครึ่งปีแรกยังพบอีกว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 1,702 บาท/ออเดอร์ ผ่านช่องทางเดสก์ท็อป โมบายเว็บ และแอปพลิเคชัน สินค้ายอดนิยม เป็นกลุ่มแฟชั่น เสื้อผ้า ยานยนต์​ และอิเล็กทรอนิกส์

ไพรซ์ซ่าเชื่อว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตต่อเนื่องร้อยละ 20-30 ต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2018-2025  ที่จะเริ่มเติบโตช้าลง และคาดว่าสัดส่วนตลาดค้าปลีกออนไลน์ไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 8 หรือราว 11,000-12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่ารวมธุรกิจค้าปลีก จากปัจจุบันคาดว่าจะมีเพียงร้อยละ 1-2

ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่รองเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่สุด

ล่าสุด บริษัทเตรียมเปิดโครงการใหม่ที่เข้าสู่ตลาดฟินเทค หลังจากปลายปีที่ผ่านมา ได้เปิดบริการใหม่ Priceza Money การเปรียบเทียบราคาประกันรถยนต์ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

Investment-ecommerce