SingularityU ฉายภาพธุรกิจยุค Exponential

26 June 2018 Technology

SingularityU Thailand Summit 2018 ยกขบวนผู้เชี่ยวชาญจากซิลิกอนวัลเลย์เปิดประเด็นการมาถึงของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด หวังเตรียมความพร้อมให้ผู้นำองค์กรในภูมิภาคอาเซียนรับมือได้ทันท่วงที

โดยภายในงานได้มีการฉายภาพอนาคตของอุตสาหกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การคมนาคมขนส่ง การแพทย์ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ บล็อกเชน เครือข่าย IoT พลังงาน การจัดการด้านอาหาร ภาคการผลิต ฯลฯ พร้อมการวิเคราะห์แนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยียุคใหม่ที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

ปีเตอร์ ไดแมนดิส (Peter Diamandis) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานของ Singularity University กล่าวว่า “คนอาจไม่รู้สึกว่าโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก และด้วยความรวดเร็วนี้เอง ทำให้ผู้นำอุตสาหกรรมของโลกจำเป็นที่จะต้องติดตามการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกเหล่านี้ให้ทัน เพราะการเข้าใจเพียงเทคโนโลยีของวันนี้ อาจทำให้คุณช้าเกินไปสำหรับวันพรุ่งนี้”

โดยภายในการบรรยายของไดแมนดิสได้มีการหยิบยกชื่อของหลายธุรกิจที่เคยเป็นระดับตำนาน แต่ปัจจุบันได้ถูกเศรษฐกิจใหม่กลืนหายไปเรียบร้อย ตัวอย่างเช่น โกดัก และบล็อกบัสเตอร์ มาบอกเล่าเป็นกรณีศึกษาด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาว่า เพราะเหตุใดโกดักจึงหายไปในขณะที่ “การถ่ายภาพ” ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับแชร์ภาพถ่ายขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ล้านคนอย่าง Instagram เกิดขึ้นได้ ไดแมนดิสเผยว่า การจบสิ้นของโกดักเป็นผลมาจากการมองไม่ออกถึงภาพของการเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับบล็อกบัสเตอร์ (Blockbuster) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ แต่ในที่สุดบล็อกบัสเตอร์ก็กลายเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่หายไป ทั้งๆ ที่ “การดูหนัง” ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทุกคนชื่นชอบ

ใจความสำคัญของประเด็นนี้อยู่ที่มุมมอง ไดแมนดิสเผยว่าสิ่งที่เคยมีอยู่อย่างจำกัดในยุคๆ หนึ่ง (Scarcity) จะกลายเป็นสิ่งที่มีอย่างเหลือเฟือ (Abundance) ในยุคแห่งการเติบโตแบบเอกซ์โพเนนเชียล ด้วยเหตุนี้ธุรกิจที่จะอยู่รอดจึงต้องปรับโมเดลการสร้างรายได้ให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ Instagram รวมถึง Netflix ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในทุกวันนี้

การเติบโตที่จะทำให้อยู่รอดในยุคแห่งเอกซ์โพเนนเชียลอีกข้อหนึ่ง คือการปรับตัวสู่การสร้าง Ecosystem โดย Amin Toufani ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้นำรายชื่อบริษัทที่อยู่ใน S&P 500 ในปี 2002 มาเปรียบเทียบกับปีปัจจุบัน พบว่ามีหลายธุรกิจที่หลุดวงโคจรออกไป ไม่ว่าจะเป็น PeopleSoft, Compaq, Sears, Palm ขณะที่ธุรกิจเข้ามาใหม่นั้นมีทั้ง Google, eBay, nVidia, Netflix, WholeFoods, Amazon, Comcast และ Estee Lauder

Amin Toufani เผยว่า สิ่งที่ทำให้หลายธุรกิจหลุดวงโคจรออกไปนั้นมาจากการไม่ปรับตัว โดยหลายธุรกิจเน้นการผลิตสินค้าออกมาเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ปรับไปสู่การสร้างบริการ ไม่สร้างแพลตฟอร์ม รวมถึงไม่มีการพัฒนาไปสู่การสร้าง Ecosystem เหล่านี้ทำให้ถูกทดแทนได้ง่ายจากผู้ที่มาใหม่

สำหรับงานสัมมนาระดับผู้นำองค์กรดังกล่าวถือได้ว่าจบลงอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้การจัดงานของบริษัท เอกซ์โพเนนเชียล วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับพันธมิตรอย่างอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, ธนาคารไทยพาณิชย์, ทรู คอร์ปอเรชั่น, บริษัท เมืองไทย ประกันชีวิต, ดีลอยท์ (Deloitte), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), องค์กร Young Presidents’ Organization (YPO) ประจำประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), เอสเอพี (SAP), ซิสโก (Cisco),  Mitsui Fudosan Asia (Thailand) และ บริษัท สิงห์ เวนเจอร์

Technology-SingulariyU