Loops บริการร่วมเดินทางสำหรับธุรกิจคอนเสิร์ต

18 June 2018 Startups

การให้บริการร่วมเดินทาง (Ride-Sharing) ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ระบบคมนาคมพื้นฐานยังไม่สามารถรองรับความต้องการของทุกคนได้อย่างเพียงพอ

แต่ในวันที่ท้องถนนเต็มไปด้วยการแข่งขันของบริการ Ride-Sharing ข้ามชาติ ก็มีกลุ่มสตาร์ทอัพสัญชาติไทยในชื่อ Loops ที่มองเห็นอีกหนึ่งโอกาสซ่อนอยู่อย่างเงียบๆ นั่นก็คือการจัดมหกรรมคอนเสิร์ตต่างๆ ที่มักหารถกลับจากงานได้ยากถึงยากมาก บริการจาก Loops จึงเกิดขึ้น เพื่อให้บริการกับลูกค้ากลุ่มที่มารับชมคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ

นายอิทธิกร อัฑฒพงษ์ ผู้ก่อตั้ง Loops เผยว่า บริการของ Loops เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มาชมการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินต่างๆ โดยเฉพาะคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีที่มีการจัดอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมามักพบว่าผู้เข้าชมคอนเสิร์ตมักหารถกลับบ้านค่อนข้างยาก หรือหากมีก็ต้องต่อคิวรอรถเป็นเวลานาน โดยตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบปัญหาต้องยืนต่อคิวรอรถกลับจากสถานที่แสดงคอนเสิร์ตหลายชั่วโมงเช่นกัน

งานของ Loops จึงเป็นการประสานเพื่อจัดหารถตู้โดยสารประเภท 2 ซึ่งเป็นแบบรับจ้างไม่ประจำเส้นทางเข้ามาให้บริการเพื่อรองรับความต้องการในจุดนี้ และพบว่าผลตอบรับดีเกินคาด มีผู้โดยสารให้ความสนใจใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการใช้บริการนั้น ทาง Loops ได้เปิดเว็บไซต์ชื่อ www.loops-event.com โดยผู้ที่สนใจจองที่นั่งรถตู้กลับบ้านสามารถเข้าไปจองรถได้ ภายในจะมีข้อมูลให้เลือกว่าจะใช้บริการรถตู้จากงานคอนเสิร์ตใด รถจะออกเวลาใด จองจำนวนกี่ที่นั่ง รวมถึงแจ้งราคาค่าบริการไว้พร้อมสรรพ

Startup-Loops_01

ส่วนในการให้บริการนั้น จะมีทีมงานของ Loops คอยให้บริการพาไปยังรถตู้ และตรวจสอบรายชื่อของผู้ใช้บริการก่อนขึ้นรถเพื่อความถูกต้อง สำหรับจุดจอดรถปลายทางนั้น ในช่วงเริ่มต้น ทางทีมงานได้กำหนดไว้ 2 จุดหลักๆ นั่นคือสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ในอนาคต นายอิทธิกรเผยว่าหากมีการเก็บข้อมูลมากขึ้น อาจพัฒนาให้สามารถส่งลูกค้าได้ถึงบ้านด้วยก็เป็นได้

นอกจากนั้น Loops ยังมีบริการอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือการจัดหารถตู้แบบวิ่งรถทั่วไป ซึ่งในส่วนนี้ นายอิทธิกรเผยว่ายังอยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อเปิดให้บริการในอนาคตด้วย

สำหรับ Loops เป็นทีมที่เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 คน ผ่านโครงการ Chula Startup League Batch 1 ที่จัดขึ้นร่วมกันระหว่าง CU Innovation Hub ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ในปี 2560 โดยมุ่งเน้นความสนใจในการทำธุรกิจ Startup ไปในเรื่องของการเดินทาง รวมถึงได้เข้าเป็นหนึ่งใน 14 ทีมสุดท้ายของโครงการบ่มเพาะอย่าง Allianz Ayudhya Activator และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

Startup-Loops_02