ลงทุนคือการได้เรียนรู้ “InVent” ร่วมพัฒนาเติบโตไปด้วยกันกับธุรกิจสตาร์ทอัพ

14 June 2018 Investment

ในแวดวงสตาร์ทอัพ หากพูดถึงธุรกิจร่วมลงทุน (Corporate Venture Capital) หรือ CVC “อินเว้นท์” หรือ InVent ในฐานะโครงการธุรกิจร่วมทุนของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) น่าจะเป็นชื่ออันดับต้นๆ ที่นึกถึงกันในวงการ

จากปี 2555 ที่เริ่มก่อตั้งโครงการ ปัจจุบันกว่า 6 ปี InVent ได้เข้าร่วมทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว 13 ราย วงเงินรวมราว 400 กว่าล้านบาท การลงทุนที่นอกเหนือจากผลตอบแทนทางธุรกิจแล้ว คือการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกันกับธุรกิจสตาร์ทอัพ

ทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้บอกเล่าถึงนโยบายการลงทุนของ InVent ว่าอินทัชฯ เป็นบริษัทที่ลงทุนในด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว และเห็นว่าคนไทยมีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม แต่ยังขาดเรื่องของเงินทุนสนับสนุน และแนะนำเรื่องของการทำธุรกิจ มองถึงโอกาสในการเข้าไปมีส่วนช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพสามารถสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของอินทัชด้วย ส่งต่อไปถึงทั้งประโยชน์องค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การเสียภาษีคืนกลับให้กับภาครัฐ

โดยการร่วมลงทุนจะมุ่งเน้นในธุรกิจที่เกี่ยวกับ TMT  คือโทรคมนาคม (Telecom) สื่อ (Media ) และเทคโนโลยี (Technology) จัดสรรเงินลงทุนปีละ 200 ล้านบาท ลงทุนในทุก Stage ของธุรกิจ ตั้งแต่ระดับ Seed ไปจนถึงกลุ่มซีรีส์ A ถึง D  ลงทุนขั้นต่ำรายละ 10 ล้านบาท ระยะเวลาลงทุน 3-5 ปี หรือแล้วแต่สภาพของกิจการและ stage ที่เข้าไปร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 13 บริษัท ได้แก่

  1. อุ๊คบี (Ookbee) แพลตฟอร์มอีบุ๊ก
  2. คอมพิวเตอร์โลจี (Computerlogy) แพลตฟอร์มการตลาดบนโซเชียลมีเดียครบวงจร
  3. เมดิเทค โซลูชั่น (Meditech Solution) เทคโนโลยีช่วยในการสื่อสารสำหรับผู้ป่วยอัมพาต โดยการตรวจจับจากการกะพริบตา (Eye Tracking System)
  4. อินฟินิตี้ เลเวล (Infinity Levels) ผู้พัฒนาเกมแอปพลิเคชั่น จดทะเบียนในสิงคโปร์
  5. ซินโนส (Sinoze) ผู้สร้างเกมดนตรีบนอุปกรณ์พกพา “Thapster”
  6. เพลย์เบสิส (Playbasis) แพลตฟอร์มเกมมิฟิเคชัน
  7. กอล์ฟดิกก์ (Golfdigg) แพลตฟอร์มสำหรับจองสนามกอล์ฟ
  8. ช้อปสปอท (Shop Spot) แพลตฟอร์มตลาดซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์
  9. วงใน (Wongnai) แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหาร
  10. โซเชียลเนชั่น (Social Nation) แพลตฟอร์มการกระจายโฆษณาแบบเสมือนจริง
  11. ดิจิโอ (Digio) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีรูดบัตรเครดิตผ่านสมาร์ทโฟน
  12. อีเวนท์ ป๊อป (Event POP) แพลตฟอร์มการบริหารจัดการงานอีเวนท์ต่างๆ และ
  13. ช้อปแบ็ค (Shopback) แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์

การลงทุนดังกล่าวได้มีการ Exit ไปแล้ว 2 บริษัท คือคอมพิวเตอร์โลจี กับช้อปสปอท ทั้ง  13 รายเป็นบริษัทที่ก่อตั้งและพัฒนาโดยคนไทยทั้งสิ้น แต่บางรายอาจจะตั้งต้นธุรกิจในต่างประเทศ  เช่น Social Nation เริ่มเปิดตัวธุรกิจที่ซิลิคอนวัลเลย์สหรัฐอเมริกา หรืออินฟินิตี้ เลเวล ที่จดทะเบียนที่สิงคโปร์ เป็นต้น

“เรามองตัวเองว่าเรายังใหม่ในธุรกิจนี้ แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการลงทุนของเราคือต้องการให้เกิด “การเรียนรู้” ภายในองค์กรมากที่สุด จึงเลือกจะลงทุนกับธุรกิจโดยตรง ซึ่งเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของเรามากกว่า แม้การลงทุนในกองทุนจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการกระจายความเสี่ยงก็ตาม”

สำหรับหลักการพิจารณาร่วมลงทุน คือสตาร์ทอัพจะต้องเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับธุรกิจของอินทัชฯ ได้ ต้องป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนในเรื่องของทีมงาน ไม่ใช่แค่ความเก่งของผู้ก่อตั้งอย่างเดียว เพราะสตาร์ทอัพก็คือธุรกิจ เป็นธุรกิจเล็กๆ ที่กำลังเริ่มต้น ทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้  เมื่อมีสินค้า มีนวัตกรรมที่ดี ต้องมีทีมเก่งด้วย ทั้งการบริหารจัดการคน จัดการธุรกิจ การตลาด การขายด้วย ต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ให้ครบ

ซึ่งการลงทุนเป็น Long-term partnership นอกจากการสนับสนุนเงินทุนแล้ว InVent ยังให้คำปรึกษา ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีอยู่ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสตาร์ทอัพ เข้าไปช่วยดูแล แก้ปัญหา ประคับประคองให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน

“สตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องมีผู้ร่วมลงทุนแค่รายเดียว แล้วแต่ stage ที่ธุรกิจต้องการ ในแต่ละช่วงของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มตั้ง พัฒนา ผลิตสินค้าออกสู่ตลาด การขยายธุรกิจ แต่ละช่วงความต้องการจะต่างกัน อย่างช่วงของการพัฒนาอาจจะต้องการเงินทุน เมื่อเข้าสู่ช่วงขยายธุรกิจก็จะต้องการผู้ร่วมทุนที่เอื้อประโยชน์กัน เพราะฉะนั้นการมีผู้ลงทุนคนเดียวก็อาจจะไม่ใช่คำตอบของสตาร์ทอัพ เราต้องมองภาพรวมในเรื่องของธุรกิจเป็นหลัก อะไรที่เป็นประโยชน์สำหรับสตาร์ทอัพมากที่สุด”

นอกจากนั้น ทวันทว์ ยังให้มุมมองเกี่ยวกับ Ecosystem ว่าปัจจุบันไทยมี Ecosystem ที่ใหญ่และแข็งแรงขึ้น มีเงินทุนของภาคเอกชน กองทุนของภาครัฐที่จะสนับสนุนช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพพอสมควร ธุรกิจต่างๆ ก็มีความเข้าใจในเรื่องของสตาร์ทอัพมากขึ้น จากสถานการณ์ที่นวัตกรรมเข้ามา disrupt ธุรกิจ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ตระหนักว่าต้องทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพมากขึ้น

ส่วนของตัวสตาร์ทอัพเอง ปัจจุบันมีจำนวนเยอะขึ้นมาก แต่ยังขาดเรื่องของนวัตกรรม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในช่วงเวลาเดียวกันทำเรื่องเดียวกันเหมือนๆ กัน เช่น เทรนด์ Fintech เทรนด์ Service มา ก็มุ่งกันทำแต่ฟินเทคและเซอร์วิส แข่งขันกันเยอะ สุดท้ายก็ล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว และเหลืออยู่ไม่กี่ราย ดังนั้น สตาร์ทอัพต้องคิดพัฒนาสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น  วิเคราะห์จนตกตะกอนในเรื่องของธุรกิจ ต้องคิดไอเดียสินค้าให้มากขึ้น อย่ามองแค่กระแส ต้องมองภาพระยะยาวให้ออกว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต

“ในเรื่องของนวัตกรรม ไทยมีศักยภาพเพียงพอ บุคลากร สิ่งแวดล้อม ไม่ด้อยกว่าใคร สู้กับต่างประเทศได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความต่อเนื่อง ต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน สนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพเยอะๆ  สร้างนักรบธุรกิจ สร้างทีมชาติ นอกจากความสำเร็จในประเทศแล้ว ก็ขยายขบวนไปยังต่างประเทศ เมื่อมีคนทำได้ ก็จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นมุ่งมั่นที่จะทำได้เหมือนกัน”

Investment-InventbyIntuch

ทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)