NIA ปลื้มงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ปีนี้ ตอกย้ำความเป็นฮับ

5 June 2018 Startups

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ชี้ งาน Startup Thailand 2018: Endless Opportunities ย้ำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ได้ขึ้นชั้นเป็นฮับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วอย่างเต็มตัว

“แม้แต่ผมก็ยังแปลกใจ เนื่องจากเราเริ่มต้นช้ากว่าเพื่อนบ้านหลายปี อย่างเวียดนามและอินโดนีเซียซึ่งมี Unicorn แล้ว เพราะเขาเป็นตลาดที่มีประชากรมาก ย้อนกลับมาดูเมืองไทย สิ่งที่เป็นสัญญาณของความรุดหน้า คือ ecosystem ซึ่งเห็นได้ว่ามีเงินลงทุนไหลเข้าในระบบเยอะ ทำให้เห็นว่าหลายคนจับตามองกรุงเทพฯ”

งาน Startup Thailand 2018 ทั้งหมด 4 วัน ตอกย้ำความเป็นฮับให้กับกรุงเทพฯ ต่างชาติซึ่งเป็นสตาร์ทอัพกว่าร้อยรายที่ร่วมงานนี้ก็ตกใจที่เห็นขนาดของงาน เห็นจำนวนสตาร์ทอัพและความก้าวหน้าของไทย

ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่าผลสรุปของงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีกว่า 500 บูธที่เข้าร่วมงานและอื่นๆ ไว้เป็นดาต้าเบส ที่นำมาวิเคราะห์ เพื่อต่อยอดและกำหนดทิศทางการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยในอนาคตได้อีกด้วย

“นับจากเริ่มต้นจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์มา 3 ปี ในฐานะแม่งาน เรามีการลองผิดลองถูก ผลจากข้อมูลที่เก็บจากการจัดงานแต่ละปี ได้นำมาใช้แก้ไขและพัฒนาต่อไป งานของเรามันไม่ใช่เสร็จแค่ 4 วัน แต่ผลที่ได้จาก 4 วัน เราได้ทำ Knowledge Dissemination ด้วย”

ดร.พันธุ์อาจยังชี้ว่าทิศทางการพัฒนาสตาร์ทอัพในระดับ deep tech ในอนาคตยังไปได้อีกไกล หลังจากที่ภาครัฐได้พยายามผลักดันอยู่เกือบปี โดยเฉพาะโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพที่พัฒนา deep tech ซึ่งหากมีสตาร์ทอัพที่เน้นคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อใช้ในการเกษตร ก็จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ

“ปัจจุบันการเกษตรเป็นกลุ่มที่มีเทคโนโลยีไปช่วยน้อยมาก ทั้งที่เรามีผู้ทำธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ระดับโลกไปจนถึงระดับเอสเอ็มอี แต่กลับมีสตาร์ทอัพเทค ที่จะไปช่วยเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้านเกษตรน้อยมาก”

ขณะนี้ เริ่มมีการใช้โดรนเพิ่มขึ้นในการเกษตรบ้างแล้ว ยกตัวอย่างโดรนที่ applied เพื่อใช้ใส่ปุ๋ย โดรนติดจีพีเอสเพื่องานสำรวจ เป็นต้น ถึงแม้ว่าตลาดในประเทศจะเพิ่งเริ่มต้นใช้ แต่จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในอนาคต อีก 2-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจที่เป็นเกษตรแบบ traditional จะหันมาใช้ deep tech มากขึ้น

นอกจากสายเกษตรแล้ว กลุ่มอื่นๆ ก็ยังมี เช่น health tech และ med tech ซึ่งน่าจะมีการพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล ไม่ว่ารัฐและเอกชน กับเหล่าสตาร์ทอัพ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในกลุ่มนี้ มีความท้าทายอยู่ 2 ข้อคือการพัฒนาตลาดในประเทศให้ทันต่อความต้องการเติบโตก่อนจะออกไปสู่ต่างประเทศ

งาน health tech ส่วนใหญ่มุ่งไปที่ service innovation การบริหารจัดการ efficiency productivity ในขณะที่ med tech เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์ จึงเน้นที่ reliability และ safety ของคนไข้

ทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวกฎระเบียบ มาตรฐาน และ compliance ดังนั้น กลุ่มแรกจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าและเร็วกว่ากลุ่มที่ 2

เพื่อผลักดันให้นวัตกรรมเหล่านี้เกิดง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ภารกิจแรกที่สำคัญ คือการทำกฎหมายสตาร์ทอัพให้เสร็จเร็วที่สุดเพื่อนำไปเสนอครม. เรื่องที่ 2 คือการบริหารจัดการนวัตกรรมในการทำไฟแนนซิ่งให้กับสตาร์ทอัพ ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงสตาร์ทอัพไทย แต่ต้องพัฒนาให้ไฟแนนซ์เป็นแม่เหล็กช่วยดึงต่างชาติเข้ามา

นอกจากนี้ ต้องเร่งทำ regulatory sandbox เพื่อปลดล็อกให้ไอเดียใหม่ของสตาร์ทอัพได้เริ่มต้นทดลองได้ โดยไม่ติดข้อกฎหมายเดิม เนื่องจากแซนด์บ็อกซ์คือแพลตฟอร์มที่ยอมให้มีการทดสอบโมเดลธุรกิจใดๆ ที่เป็นสิ่งใหม่ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ยังไม่รู้ผลลัพธ์ของมัน นอกจากโมเดลธุรกิจแล้ว ยังใช้ทดสอบมาตรฐานและคุณภาพด้วย

“นอกจากนี้ แซนด์บ็อกซ์ยังช่วยแก้ปัญหาบางธุรกิจที่พอติดขัดเพราะกฎหมายเดิม ก็หนีไปทำแบบเลี่ยงกฎหมาย ทำให้โมเดลธุรกิจดีๆ บางธุรกิจต้องกลายเป็นธุรกิจใต้ดิน”

ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในช่วง transition ของการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงกฎเกณฑ์ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นวัตกรรม มีทั้งกฎเดิมที่เอื้อหรือไม่เอื้อ แต่ยังไม่รู้แน่ชัด จนกว่าจะได้ทดสอบดู ซึ่งแซนด์บ็อกซ์จะช่วยเปิดทางให้ทดลองได้