สตาร์ทอัพไทย ควรไปต่อทิศทางไหน

4 June 2018 Startups

หลังจากที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งสร้างสตาร์ทอัพ ให้ตอบรับนโยบาย 4.0 มากว่าสามปี เราได้รวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในวงการถึงทิศทางสตาร์ทอัพไทยว่าไปถูกทางหรือไม่

โดยสรุป นับจากไทยเริ่มพัฒนาสตาร์ทอัพไทยก็ถือว่าเติบโตดีในระดับที่น่าพอใจ แต่เนื่องจากยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เมื่อเทียบกับต่างชาติที่เน้นพัฒนาสตาร์ทอัพมาแล้วเป็นสิบปี ภาครัฐยังต้องลงแรงลงเงินต่อเนื่องต่อไปอีกนาน กว่าจะไปถึงเป้าหมายที่สตาร์ทอัพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ต่อจิ๊กซอว์ระบบนิเวศน์

ซีอีโอ Bualuang Ventures ในเครือธนาคารกรุงเทพ ยาญชัย ตันติรัฐพงศ์ ชี้ว่าประเทศไทยพัฒนามาถูกทางแล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่ออีกมาก โดยเฉพาะ  ecosystem ไทยยังต้องพัฒนาอีกหลายส่วน

เริ่มจากเงินทุนจากเอกชนอย่าง venture capital และ angel investor มีน้อยเกินไป ส่วนใหญ่กองทุนเป็น corporate VC ซึ่งเน้นแต่เทคโนโลยีที่ต่อยอดเฉพาะธุรกิจตน ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนยังไม่ค่อยหลากหลาย

ความร่วมมือจากภาคการศึกษาก็สำคัญ ปัจจุบันยังมีไม่มากพอ ในหลายๆประเทศ มหาวิทยาลัยร่วมมือกับสตาร์ทอัพช่วยเติมเต็มการพัฒนาไอเดียนวัตกรรมของสตาร์ทอัพได้ดี และแม้แต่อาจารย์ก็กลายเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพกันเยอะ แต่ของไทยยังมีน้อย น่าจะขยายได้อีกมาก

ที่สำคัญ ในระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพไทย มีผู้ที่ผ่านความล้มเหลวมาก่อนจะเติบโตน้อยเกินไป ประสบการณ์ของคนเหล่านี้เป็นบทเรียนที่ชัดเจน ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้กับสตาร์ทอัพมือใหม่ได้ดีที่สุด

ขยายวิสัยทัศน์ เพิ่มขนาดธุรกิจ

ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ Beacon Venture Capital มองสตาร์ทอัพไทย ว่า เติบโตได้ดี แต่ขนาดของแต่ละรายก็ยังเล็กเกินกว่าจะเป็นผู้เล่นหลักในตลาด เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างสิงค์โปร์ มาเลเซีย ที่มีสตาร์ทอัพขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้แล้ว 2-3 ราย ดึงดูดให้ VC ใหม่ๆจากจีน ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุน

“สตาร์ทอัพไทยที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นผู้ชี้นำตลาดได้มีเพียง 1-2 รายเท่านั้น แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยังเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่มีการระดมทุนกันเป็นหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเพราะเมืองไทยมีการแข่งขันสูงมาก ทั้งไทยแข่งกันเอง และยังมีจากต่างประเทศอีก” ธนพงษ์ กล่าว

เขาแนะนำสตาร์ทอัพให้ขยายไซส์โดยจับมือกับรายใหญ่เพื่อให้รายใหญ่ที่ครองตลาดและเนตเวิร์กอยู่ ช่วยนำสินค้าไปหาลูกค้า หรือเป็นธุรกิจ B to B to C แทนที่จะเป็น B to C ที่มีการแข่งขันสูง

อีกทั้งไทยยังนิยมทำธุรกิจโดยใช้ไอเดียธุรกิจจากต่างประเทศเป้นต้นแบบ ทั้งที่มีบริบทในประเทศ (local context) ที่ต่างกัน ผลคือความล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น

ขาด Tech Talent เพื่อแจ้งเกิดยูนิคอร์น

ดุสิต ชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุน AddVentures by SCG มองว่าสตาร์ทอัพไทยจะเติบโตได้เร็วขึ้น จำเป็นต้องสร้างจากไอเดียที่โดดเด่นพอจะขึ้นเป็นยูนิคอร์นได้

ยูนิคอร์นเป็นเสมือนฮีโร่ ช่วยสร้างแรงจูงใจ ปลุกกระแส ดึง tech talent ที่ทำงานองค์กรใหญ่ในต่างประเทศอย่าง Facebook Google Apple ให้กลับมาทำสตาร์ทอัพในไทย และช่วยดึงดูดนักลงทุนให้มาให้น้ำหนักกับการลงทุนในไทยเป็นลำดับต้นๆ มากขึ้นเช่นกัน

อย่างอินโดนีเซีย มี GoJek  และมาเลเซียมี Grab ที่ดึงมูลค่าการระดมทุนขนาดใหญ่เข้าประเทศระดับกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลไทยเองก็ต้องร่วมมือในการแก้ไขระเบียบต่างๆให้ดึงดูดหัวกะทิและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้เข้ามาในประเทศ

สร้างเนตเวิร์กนวัตกรรมไปในระดับโลก

ดุสิต กล่าวว่า เราต้องขยายความร่วมมือไปในระดับโลก ที่เป็น Global Innovation Hub อย่าง Silicon Valley ของสหรัฐ เทลาวีฟ ในอิสราเอล หรือจากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ที่โดดเด่นเรื่อง automation ในฐานะที่ SCG เป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคก็มีบทบาทช่วยเชื่อมโยงความร่วมมือเข้ามาในไทย

ล่าสุด SCG ได้จับมือกับ PlugandPlay  Accelerator จากซิลิคอน วัลเลย์​มีเครือข่ายสตาร์ทอัพจำนวนกว่า 200-300  บริษัท รวมทั้งเคยลงทุน early stage ใน Dropbox จนโด่งดังไปทั่วโลกมาแล้ว

หนึ่งฟันเฟืองใหญ่ดันสตาร์ทอัพไทยโต

เหล่ากิจการใหญ่ที่เนทเวิร์กแข็งแกร่งต้องมาช่วยสตาร์ทอัพ อย่าง SCG ที่มีเครือข่ายในเกือบทุกประเทศในอาเซียน ก็เข้ามาช่วยลงทุนและร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทยของเรา จะทำให้สตาร์ทอัพ พัฒนานวัตกรรม และขยายสเกลได้รวดเร็วขึ้นผ่านเครือข่ายพันธมิตรและลูกค้าของบริษัท

แนะสตาร์ทอัพไทยมองให้ยาวปรับใช้ AI

Bualuang Ventures ที่มีประสบการณ์ยาวนานในการลงทุนในสตาร์ทอัพในต่างประเทศ ชี้ว่า สตาร์ทอัพไทยควรทุ่มเทกับการพัฒนาระดับ deep tech ให้มากขึ้น และสร้างสินค้าก็ตอบโจทย์ pain point ของลูกค้าให้มากขึ้น

ดุสิต เห็นด้วยว่าควรมองระยะไกล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องใช้ automation และ artificial intelligence ให้มากขึ้น มากกว่าการทำฟีเจอร์แบบพื้นฐาน

อีกทั้ง การหา pain point ก็ควรมองไกลไปถึงเพื่อนบ้านมากกว่าการมองแค่ตลาดในประเทศ โดยมองหาจุดร่วมที่ทุกประเทศมีใกล้เคียงกัน เพื่อให้ได้ตลาดที่ใหญ่ขึ้น