ส่องกฎหมายใหม่กำกับคริปโตและดิจิทัลโทเคน

3 June 2018 Startups

เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ในที่สุด กฎหมาย 2 ฉบับที่ออกมาเพื่อรองรับ cryptocurrency และดิจิทัลโทเคนโดยเฉพาะได้ประกาศบนพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการออกกฎหมายนี้ได้ช่วยไขข้อสงสัยหลายข้อเกี่ยวกับการระดมทุนเป็นเงินสกุลเหรียญดิจิทัล หรือที่รู้จักกันดีในหมู่สตาร์ทอัพว่า Initial Coin Offerings (ICOs) และยังช่วยตอบคำถามอื่นๆ ที่ค้างคามานานเกี่ยวกับเงินดิจิทัลในอีกหลายประเด็นทีเดียว

โดยกฎหมาย 2 ฉบับที่ว่า แยกประเด็นหลักออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นการกำหนดกรอบการเสนอขายเหรียญ การเทรดเหรียญ โบรกเกอร์และการแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัล และโทเคน (Token) ส่วนอีกฉบับ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ทางภาษี

กฎหมายฉบับแรก พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แยกนิยามคำศัพท์หลายคำให้กระจ่างขึ้น อย่าง cryptocurrency เรียกเป็นไทยว่า คริปโทเคอร์เรนซี ส่วน token digital เรียกว่า โทเคนดิจิทัล และให้นิยามที่แตกต่างกันไปตามลักษณะหน้าที่ของมัน

นอกจากนี้ ยังมีนิยามเรื่องธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมให้กิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางไว้เรียบร้อย เช่น ธุรกิจเทรดเดอร์ ธุรกิจโบรกเกอร์ หรือจะเป็นดีลเลอร์ แถมกฎหมายยังเปิดช่องไว้ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สามารถเพิ่มเติมรายการธุรกิจอื่นๆ ได้ตามที่ กลต. เห็นควร ทั้งนี้เพื่อให้กลต. ปรับตัวได้ทันความไวของเทคโนโลยีนั่นเอง

ในวงการได้คาดเอาไว้ว่ากระทรวงการคลังจะเป็นกระทรวงหลักที่มาคุมธุรกิจเงินดิจิทัลทั้งหลาย และผลก็ออกมาตามนั้น พร้อมกับในส่วนของการกำกับดูแลในรายละเอียดก็เป็นเรื่องที่ กลต. ต้องรับไป ดังนั้น ทุกๆ ธุรกิจที่ทำอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกระทรวงการคลังถึงจะทำธุรกิจได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นไปตามข้อเสนอของ กลต. นั่นเอง

ในส่วนของการระดมทุนด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคน (digital token offering) หรือเสนอขาย crypto หรือเหรียญดิจิทัล หรือ Initial Coins Offering (ICO) ซึ่งเป็นการระดมทุนที่กำลังฮิตมากในหมู่สตาร์ทอัพ ภายใต้กฎหมายใหม่ ก็กำหนดให้ต้องผ่านการพิจารณาและได้รับอนุมัติจาก กลต. จึงจะออก ICO ได้ ซึ่งจริงๆ คือใกล้เคียงกับการระดมทุนจากตลาดทุนหรือการออก IPO ที่เราๆ รู้จักกันดี และก็ต้องออกหนังสือชี้ชวนก่อนการระดมทุนเหมือนกับการออก IPO ด้วย

นอกจากนี้ เวลาออก ICO ก็ต้องผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายดิจิทัลโทเคน ซึ่งหมายถึงบริษัทที่ทำหน้าที่เหมือนอันเดอร์ไรท์เตอร์ของการออก IPO นั่นเอง เพียงแต่ไม่ใช่เป็นการเสนอขายหุ้น แต่เป็นเงินคริปโต หรือบิทคอยน์ (bitcoin) นั่นเอง โดยอันเดอร์ไรท์เตอร์ก็ต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองจาก กลต. เท่านั้นเช่นเดียวกัน

และเมื่อหลังจากได้รับอนุมัติจาก กลต. ให้เสนอขายได้แล้ว กลต. ก็ยังคงมีบทบาทในการกำกับ ดูแล ให้แต่ละรายที่เป็นผู้ระดมทุนประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเพื่อสร้างราคา หรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนโดยเจตนา หรือเจตนาให้ข้อมูลไปในทางที่ผิด อันนี้ก็เพื่อปกป้องนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เช่นเดียวกับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ใหม่ฉบับนี้ ยังกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ระดมทุนหรือเสนอขายโทเคน ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล  รวมถึงคุณสมบัติของผู้บริหารธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้ง ต้องมีการตั้งสำรองเพื่อป้องกัน unfair trading ในโลกของดิจิทัลโทเคน

เหล่าเทรดเดอร์ก็ถูกบังคับให้ต้องตั้งทุนสำรองเผื่อไว้ในกรณีที่เทรดเดอร์ไม่สามารถจ่ายคืนสินทรัพย์ของลูกค้าที่เอามาเทรดผ่านเทรดเดอร์นี้

โทษทางอาญาถูกกำหนดเอาไว้ชัดเจนภายใต้ พ.ร.บ. นี้ด้วย ซึ่งโทษมีตั้งแต่จำคุก 2 ปี หรือจ่ายค่าปรับคืนเป็นมูลค่าเป็น 2 เท่าของมูลค่าโทเคนนั้น โดยค่าปรับตั้งไว้ที่อย่างน้อย 500,000 บาท ว่ากันไปตามความผิดมาตราต่างๆ ถ้าทำผิดบางมาตราก็อาจจะเจอค่าปรับวันละ 10,000 บาท บางมาตราก็ต้องโทษปรับโดยไม่มีการอ้างอิงถึงมูลค่าโทเคน ซึ่งถ้าเป็นความผิดรุนแรงแบบนี้ก็จะโดนค่าปรับได้สูงถึง 2 ล้านบาท รวมทั้งจำคุกไม่เกิน 10 ปี

ทั้งนี้ ศาลมีสิทธิสั่งให้ชำระเงินคืนในมูลค่าเท่ากับที่ได้ไปจากการทำผิดกฎหมายธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ซึ่งก็จะเหมือนกับการทำความผิดกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ เช่น สร้างราคา ปั่นหุ้น อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ได้กำไรจากการทำผิดๆ ไปเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายคืนกลับมา และยังมีโทษแบนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเงินดิจิทัลไปอีกยาวๆ ไม่เกิน 5 ปี และถ้าคนที่ทำผิดเป็นผู้บริหารของบริษัทก็โดนแบนไปเลย 10 ปี ต้องจ่ายเงินคืนให้ กลต. ในส่วนที่ กลต. ใช้จ่ายไปในการสืบสวนด้วย ความผิดทางแพ่งหรือเรียกง่ายๆ ว่าโทษปรับอย่างเดียวก็ถูกกำหนดไว้กับบางข้อหา

สำหรับบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับบิทคอยท์ เทรดคอยท์ ขุดเหมือง อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจะมี พ.ร.บ. นี้ ก็ต้องรีบมาขอใบอนุญาตให้เรียบร้อยภายใน 90 วันนับจากวันที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ หลังจากที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว ก็สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ระหว่างรอการพิจารณาหรือจนกว่าจะมีคำสั่งให้หยุดก่อน

รวมถึงบริษัทที่แห่กันออกมาระดมทุนด้วยวิธีออก ICO กันไปตั้งแต่ปีที่แล้วที่เริ่มฮิตกัน ก็ต้องรีบมาขออนุมัติย้อนหลังจาก กลต. และทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อบังคับของ กลต. อย่างเข้มงวดเหมือนกับการออก IPO เช่นกัน

นอกจาก พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว กฎหมายอีกฉบับที่ประกาศใช้มาพร้อมกันนี้จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภาษีรายได้ โดยเพิ่มเติมส่วนของรายได้ที่เกิดจากสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าไปด้วย พูดง่ายๆ ก็คือต่อไปนี้ใครทำธุรกิจด้านนี้ต้องเสียภาษีรายได้แล้ว

เรื่องการจัดเก็บภาษีนี้ต้องเรียกว่าละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ สตาร์ทอัพ หรือนักลงทุน นักเล่นเก็งกำไร ให้พึงรู้ไว้ว่า รายได้หรือกำไรใดๆ ที่เกิดจากการมีดิจิทัลโทเคนในครอบครอง รวมถึงถ้าได้รับรายได้เป็นรูปของเงินดิจิทัล หรือจะเป็นผลประโยชน์ใดๆ หรือกำไรที่ได้มาจากการซื้อขาย ลงทุนเงินคริปโตหรือโทเคน  ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี โดยต้องโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของกำไรที่ได้มาด้วย

Market Trend-Crypto Decree


อ้างอิง: Tilleke & Gibbins