Go-Jek เตรียมรุกตลาดอาเซียน

2 June 2018 Investment

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Go-Jek สตาร์ทอัพที่ให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างชื่อดังจากประเทศอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการระดมทุนได้มากถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้ในการขยายกิจการรุกตลาดทั่วภูมิภาคอาเซียน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มบุกตลาดในประเทศเป้าหมายอย่างจริงจังสักที

Go-Jek ก่อตั้งเมื่อปี 2011 โดยนาย Nadiem Makarim การระดมเงินทุนครั้งล่าสุดนั้นได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากบริษัท Tencent ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งทำให้ Go-Jek มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุด บริษัทเผยว่ามีแผนจะบุกตลาดประเทศไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนแล้ว Go-Jek คงจะทำให้บริการรถรับจ้างแข่งกันดุเดือดยิ่งขึ้นในภูมิภาคอาเซียนนี้ อย่างที่เกิดขึ้นแล้วกับ Uber ที่ตอนนี้ได้ขายกิจการในภูมิภาคนี้ให้กับ Grab แห่งสิงคโปร์ไปแล้ว

ปัจจุบัน Go-Jek ให้บริการแต่เฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย และมีแผนในการใช้งบลงทุนก้อนแรกประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ และคาดว่าอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้จะสามารถเริ่มให้บริการได้แล้ว โดยในช่วงแรก คาดว่าจะเริ่มจากการให้บริการรถรับจ้างไปก่อน แล้วจึงจะค่อยขยายไปสู่การให้บริการส่งอาหารหรือบริการอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนว่าจะเดินรอยตามความสำเร็จในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดด้วย คำว่า Go-Jek นั้นมีที่มาจากคำว่า ojek ซึ่งภาษาอินโดนีเซียแปลว่าบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ที่ผ่านมาบริการของ Go-Jek ได้รับความนิยมจากชาวอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก ด้วยความที่ที่นั่นเป็นเมืองที่มีปัญหารถติดหนักระดับโลกเลยทีเดียว ขณะนี้ ทาง Go-Jek ก็ยืนยันว่ามีเครือข่ายมอเตอร์ไซค์รับจ้างมากถึงกว่า 200,000 คัน

แผนการขยายในต่างประเทศนั้น บริษัทมีแผนการที่จะใช้วิธีหาพันธมิตรที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันในประเทศนั้นแล้วร่วมกันพัฒนาแบรนด์และเซอร์วิสให้แข็งแกร่ง

จะเห็นได้ว่าทั้ง Go-Jek และ Grab ต่างก็สยายปีกธุรกิจนำเสนอบริการในลักษณะเดียวกันโดยใช้แอปพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้เป็นศูนย์รวมการให้บริการผ่านมือถือในที่เดียว ทั้งบริการด้านการช้อปปิ้ง การส่งอาหารและพัสดุ การจ่ายเงินและการให้สินเชื่อ

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีรายงานกล่าวว่า Go-Jek ได้เข้าซื้อกิจการ fintech 3 แห่งในอินโดนีเซีย คือ Kartuku ผู้ให้บริการรับจ่ายเงินแบบออฟไลน์ Midtrans เกต์เวย์ด้านการจ่ายเงินออนไลน์ระดับชั้นนำของประเทศ และ Mapan เครือข่ายผู้ให้บริการด้านการออมและให้สินเชื่อของชุมชน ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวเพื่อให้เป็นตามแผนของการรุกสู่ตลาดการจ่ายเงินระบบดิจิทัล

ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Go-Pay บริการด้านการจ่ายเงินด้วยระบบดิจิทัลที่มีเป้าหมายให้บริการแก่ตลาดด้านอีคอมเมิร์ซในประเทศอินโดนีเซียที่มีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ Go-Jek ยังคงต้องพยายามหาเจรจาเพื่อผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ของทางการเพื่อให้บริการได้อย่างราบรื่น

ปัจจุบัน บริษัทมีเครือข่ายทั้งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและบริการอื่นๆ เช่น ส่งข้อความ การทำความสะอาดบ้าน ช้อปปิ้ง ซื้อตั๋วต่างๆ และการส่งอาหาร โดยบริการทั้งหมดนี้ทำได้สะดวกง่ายดายผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ

จากผลการวิจัยตลาดของ Google และ Temasek มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดรวมของการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะในภูมิภาคอาเซียนนี้จะมีมากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

ขณะที่ Go-Jek พยายามจะรุกตลาดอื่นๆ ในอาเซียน หลังจากที่รุกตลาดอินเดียไปแล้วเมื่อปี 2016 นั้น ทำให้ Grab ซึ่งสามารถระดมทุนได้ถึง 4,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐจากนักลงทุนต่างๆ ได้เพิ่มความพยายามที่จะรุกเข้าสู่ตลาดฐานลูกค้าสำคัญของ Go-Jek ด้วยเช่นกัน Grab นั้นปัจจุบันได้ขยายบริการไปแล้วถึง 7 ประเทศ

อ้างอิง: Bangkok Post, Go-Jek website, New York Times, Tech in Asia