What’s next for Startup in Thailand?

31 May 2018 Startups

โดย สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม, ซีอีโอ บริษัท อาร์ จี บี เซเว่นตี้ทู จำกัด

กลางเดือนพฤษภาคม ปี 2018 นี้มีงานใหญ่สำหรับชาว Startup ห้ามพลาดนั่นคืองาน Startup Thailand 2018

งาน Startup Thailand ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว โดยแต่ละปีจะมีรูปแบบการจัดงานที่แตกต่างกันไป เพื่อสนับสนุนทั้งตัว Startup เองให้เติบโต และสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

แต่ Startup Thailand ยังเป็นมากกว่างานทอล์ค งานเปิดบูธ และงาน pitching

งาน Startup Thailand ยังเป็นเหมือน check point สำหรับคนในวงการ ไม่ว่าจะเป็น Startup, Mentor, VC, หรือผู้สนับสนุนให้ทบทวนตัวเอง ได้รีวิวภาพรวมของเหล่า Startup ในไทยว่ามีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาเติบโตไปอย่างไรบ้าง

จากประสบการณ์การเป็นกรรมการและที่ปรึกษา Startup จนถึงวันนี้ก็ปีที่ 5 แล้ว พบว่าวงการ Startup มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดดังนี้..

Startup ไทย รู้จักปรับตัว

แน่นอนว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาต้องมี Startup ทั้งเติบโต พัฒนา อย่างต่อเนื่อง และมีหลายรายที่ต้องล้มหายตายจากกันไป แต่ในขณะเดียวกันก็มี Startup อีกกลุ่มที่รู้จักปรับตัว พัฒนาไอเดียเพิ่มเติม ต่อยอด เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้

Sellsuki คือหนึ่งใน Startup ที่รู้จักกันมานานหลายปี ระบบที่ Sellsuki ทำคือเพื่อช่วยเหลือแม่ค้าออนไลน์ที่ประสบปัญหาในการขายของออนไลน์ผ่าน chat ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มาถึงวันนี้ธุรกิจของ Sellsuki กำลังเติบโตไปได้สวย แต่ Sellsuki เองยังมีการไปร่วมทุนเพื่อเปิดร้าน multi-brand store กลางสยามสแควร์ ชื่อ “Camp” ทั้งนี้การปรับตัวถือเป็นการต่อยอดให้กับธุรกิจ แต่ยังคงไอเดียเดิมของ Sellsuki คือการเกิดมาเพื่อช่วยเหลือแม่ค้าออนไลน์ได้อีกด้วย

Startup ไทย รู้จักยอมรับ

ใช่ว่าไอเดียที่คิดในวันแรกที่เริ่มทำ Startup จะดีไปทั้งหมด 100% และเชื่อว่าต้องมีไอเดียที่ดี น้อยกว่าไอเดียที่ใช้ไม่ได้

นอกจากการ “กล้าลอง” ของ Startup ไทยในยุคนี้แล้ว ยากกว่าการกล้าเปิด คือ “กล้าปิด”

Ookbee Mall หนึ่งใน Startup บริษัทย่อยภายใต้ Ookbee ประกาศปิดตัวลงใน 2 ปีที่ผ่านมา คือตัวอย่างที่ดีของความกล้าที่จะปิดตัวลง เพื่อให้ทีมย้ายไปโฟกัสที่งานส่วนอื่นที่มีโอกาสมากกว่า แน่นอนว่าไม่ใช่หลายคนจะสามารถปิดสิ่งที่ตัวเองคิดและสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ แต่สำหรับ Ookbee และ Startup อีกจำนวนหนึ่งของไทย พบว่าการยอมรับและปรับตัวให้เสียเวลาน้อยที่สุด คือการปรับแก้เพื่อเปิดรับโอกาสที่ใหม่ขึ้น ดีกว่าปิดกั้นตัวเองให้อยู่กับสิ่งเดิมๆ

Startup ไทย เริ่มไปไกลทั่วประเทศ

หนึ่งในเป้าหมายของภาครัฐคือการขยายไอเดีย ความคิด เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ให้แพร่กระจายไปถึงคนไทยทั่วประเทศ ไม่ใช่กระจุกรวมตัวกันอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือ หัวเมืองใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น

ช่วงหลังที่มีโอกาสได้ไปบรรยาย และเป็นกรรมการสำหรับงานต่างจังหวัด พบว่าไอเดียของการทำธุรกิจแบบ Startup ได้รับการพูดถึงและบอกต่อ ทำให้น้องๆ หลายคนกล้าที่จะลอง อยากออกมาทำสิ่งใหม่

ที่สำคัญคือน้องๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะคิดเทคโนโลยีหรือไอเดียที่พร้อมต่อสู้กับ Startup ในกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศ แต่หลายคนกลับมองเห็นถึงปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด และพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือแม้ว่าคนกรุงเทพฯ จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายกว่า เร็วกว่า แต่คนกรุงเทพฯ น้อยคนที่จะสามารถรู้เบื้องหลังของคนในแต่ละจังหว้ด

การกระจายไอเดียความรู้เกี่ยวกับ Startup ให้น้องๆ ได้รับรู้ ทำให้หลายคนตื่นตัวและพร้อมออกมาลุยสู่โลกกว้างทั้งๆ ที่หลายคนยังเรียนไม่จบ

ปัจจุบันตัวเลขของ Startup ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากหลายพันทีม โดยส่วนตัวเชื่อว่าปีหน้าจะมี Startup หน้าใหม่ แต่อาจจะคมกว่า Startup รุ่นก่อน เข้ามาเพิ่มเติม เพราะคนรุ่นใหม่ ใช่ว่าจะมีแค่ไอเดีย แต่กลับมีมุมมองในการเป็นผู้ประกอบการที่คิดอย่างถี่ถ้วนรอบด้านมาแล้ว

สุดท้ายนี้ ผมเองไม่ค่อยห่วงเด็กไทยเรื่องเทคโนโลยีเท่าไหร่ แต่กลับห่วงเรื่องการทำธุรกิจ ที่เชื่อว่าถ้าพวกเขาสามารถปลดปล่อยไอเดียความคิดสร้างสรรค์ มาบวกเพิ่มกับความรู้ด้านเทคโนโลยี และเสริมความคิดเรื่องการบริหารจัดการคนในองค์กรได้ด้วย เช่นนี้ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเราคงจะได้เห็น Startup หน้าใหม่ๆ ที่มีผลงานน่าสนใจอีกมากมายเลยทีเดียว