บทบาท ก.ล.ต.ยุคดิจิทัล กำกับดูแลลดความเสี่ยงลงทุน ICO

31 May 2018 Startups

วิวัฒนาการทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาทางเทคโนโลยี และความต้องการระดมทุนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพ ทำให้เกิด ICO (Initial Coin Offering) หรือการระดมทุนรูปแบบใหม่ ที่เป็นการผนวกกันระหว่าง crowdfunding กับ cryptocurrency โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain มารองรับการทำงาน

กลไกที่เริ่มจากผู้ที่ต้องการระดมทุน (Issuer) เขียนโครงการ (White Paper) คล้ายกับหนังสือชี้ชวน นำเสนอให้กับผู้ต้องการลงทุน (Investor) โดยสัญญาจะมอบ Token หรือเหรียญดิจิทัลเป็นการตอบแทน โดย Token แต่ละเหรียญสามารถตั้งให้มีคุณลักษณะต่างๆ เช่น ใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการของผู้ออก Token ใช้เพื่อจ่ายเงินปันผล หรือทำให้ผูกกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

สัญญาที่ทำขึ้นจะทำเป็น Smart contact ที่อยู่ในเครือข่าย Blockchain โดยผู้ระดมทุนเปิด Source Code ที่อยู่เบื้องหลังเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเห็นรูปแบบสัญญาที่เตรียมไว้ได้ด้วยกันหมด

ความง่ายและรวดเร็วของการระดมทุน เป็นปรากฏการณ์ให้ ICO เติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นกระแสไหลบ่าไปยังหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง แน่นอนคือย่อมส่งผลกระทบต่อผู้เล่นรายเดิม และความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

นางพราวพร เสนาณรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต) ได้ให้มุมมองถึงวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงการเงิน การลงทุน รวมถึงบทบาทหน้าที่ของ SEC ไว้ว่า

“ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในทุกสิ่งของมนุษย์เรา เกิดแพลตฟอร์มที่โยงใยข้อมูลต่างๆ และเปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล การหาเครือข่ายทำได้ง่าย และไม่ต้องใช้เงินเยอะ ผู้ลงทุนมีตัวเลือกรับข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มีตัวช่วยในการตัดสินใจได้มากขึ้น”

เดิมการทำธุรกรรม การลงทุน หรือการตัดสินใจก็ต้องผ่านตัวกลาง แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีบล็อคเชนช่วยสร้างระบบเชื่อมโยงเครือข่ายที่น่าเชื่อถือ มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และออโตเมชั่น ช่วยก้าวข้ามขีดจำกัดการทำงานของมนุษย์ ทำให้ตัวกลางต้องถูกลดบทบาทลง ต้องปรับตัว โดยการทำข้อมูลที่ช่วยให้นักลงทุนทำงานง่ายขึ้น ตัดสินใจง่ายขึ้น

“เราต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นแบบพลิกโฉม ตลาดไทยขนาดเล็ก ไม่ใหญ่เหมือนจีนที่สามารถปิดประเทศ และเดินได้ด้วยเศรษฐกิจของประเทศเขาเอง ดังนั้นเมื่อมีสิ่งจากภายนอกเข้ามา จะส่งผลกระทบกับประเทศเร็วและเยอะ ก.ล.ต.นอกจากเป็นผู้กำกับดูแลแล้ว ต้องทำตัวเป็นเรดาห์ดูว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่ควรใช้กฎเกณฑ์เดิมๆ กับของใหม่ที่เข้ามา ดังเช่นในอดีต ก.ล.ต.กำกับดูแลผ่านตัวกลางไม่ว่าจะเป็นโบรกเกอร์ ดีลเลอร์ ตลาดหลักทรัพย์ แต่ปัจจุบันมีระบบ Blockchain ที่ไม่ต้องง้อตัวกลาง ก็ไม่รู้จะกำกับใคร ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับก.ล.ต.”

ในส่วนของ ICO ทางก.ล.ต. ในช่วงที่ผ่านมามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และจัดทำร่างพระราชกำหนดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพ.ศ. 2561  ที่ได้ประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว

โดยเป็นกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการระดมผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือ ICO รวมทั้งการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล คุ้มครองผู้ลงทุนมิให้ถูกหลอกลวงจากผู้ไม่สุจริต ป้องกันการฟอกเงิน และนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย การสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแล รวมไปถึงการออกกฎเกณฑ์ยกเว้นการกำกับดูแลทรัพย์สินดิจิทัลที่เราไม่จำเป็นต้องกำกับดูแล เช่น เกมส์ทอยส์ เป็นต้น

“ใครก็ตามที่ต้องการทำ ICO ต้องได้รับการอนุญาตจากก.ล.ต.ก่อน มีการทำหนังสือชี้ชวน ได้รับการอนุมัติ การเสนอขายผ่าน ICO Portal ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มาคัดกรอง ICO ที่เข้ามาเสนอขายบนแพลตฟอร์ม เหมือนกับ FA ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และต้องการเสนอขายหุ้นหรือ IPO นั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พยายามปรับตัวและหยืดหยุ่น เพื่อให้เกิด Proper mix of regulation  และออกแบบเครื่องมือในการกำกับดูแลที่ทันสมัย เหมาะสมกับเหตุการณ์ ถ้ามีผู้ประกอบการอยากทำแต่ติดเงื่อนไขกฎเกณฑ์ ก็จะมีการพิจารณายืดหยุ่นปรับเกณฑ์ ให้ผู้ระดมทุนทดลองทำโครงการใน Sandbox นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ สนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ

“ทุกอย่างเปิดกว้างมากขึ้น ก.ล.ต.จำเป็นต้องปรับตัว บางคนอาจจะคิดว่าผู้ได้ใบอนุญาตจากก.ล.ต.ไม่ได้การันตีว่าดีที่สุด เขาอยากเลือกเองในอินเทอร์เน็ต อยากตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้รับมา มากกว่ายึดติดกับใบอนุญาต ซึ่งอนาคตในเรื่องข้อมูล เครือข่ายต่างๆ เมื่อนำมาปะติดปะต่อมาประมวล อาจจะได้คำตอบที่ดีกว่าและเรียลไทม์ ระบบอนุญาตอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการเปิดกว้างนี้”

เป้าหมายหลักของก.ล.ต.คือการวางรากฐานให้ Ecosystem ของตลาดทุนไทยพัฒนาอย่างเหมาะสม สามารถตอบโจทย์ของประเทศและประชาชนได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งทุนทางเลือกสำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีโอกาสเติบโต สตาร์ทอัพก็เป็นเป้าหมายหนึ่งในการสนับสนุน แม้จะเป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่เพิ่งเกิด ไม่มีประวัติผลการดำเนินการในอดีต ก็สามารถที่จะระดมทุนได้

นอกจากนั้น นางพราวพร ยังให้ความเห็นถึงปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินดิจิทัล หรือ  Cryptocurrency ว่า ในอนาคตอาจจะมาทดแทนเงินสกุลหลักได้ระดับหนึ่ง เป็นไปตามทิศทางของโลกในการลดการพกพาเงินสด แต่จะทดแทนได้มากน้อยเพียงใดนั้น  ขึ้นอยู่กับการยอมรับ มีคุณสมบัติครบถ้วน ความน่าเชื่อถือ  และมีระบบป้องกันการฟอกเงินหรือการนำเงินดิจิทัลไปใช้ในทางทุจริต

ผู้ช่วยเลขาธิการก.ล.ต.ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า  “ทุกอย่างมีความเสี่ยง ก.ล.ต.เปิดกว้างพร้อมรับฟัง ทดลองและเรียนรู้ไปกับภาคธุรกิจ ไม่สามารถทำทุกอย่างได้สมบูรณ์ 100% ในการกำกับดูแลตั้งแต่วันแรก และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วก็ไม่สามารถรอให้ทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์ 100% เช่นกัน  เพราะเมื่อรอให้ถึงวันนั้น นวัตกรรมอาจล้าสมัยไม่ทันกับกาลเวลาเสียแล้ว เราจึงต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่เป้าหมายไปด้วยกัน”

Market Trend-SEC

นางพราวพร เสนาณรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต)