ผู้เชี่ยวชาญชี้ ยิ่งมีกฎหมายมาก RegTech ยิ่งมีโอกาสโตมาก

27 May 2018 Technology

ในอดีต นับจากมีอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น ในยามที่รัฐเองยังก้าวไม่ทันเทคโนโลยี พวกเราเริ่มเรียนรู้การท่องเน็ตกันอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งทั้งก่อประโยชน์และสร้างความเสียหายได้เฉกเช่นเดียวกัน จนกระทั่งฝั่งรัฐตื่นตัว เริ่มสร้างกฎระเบียบต่างๆ มาช่วยจัดการดูแลให้การใช้เทคโนโลยีเป็นระเบียบ และการตื่นตัวของภาคกฎหมายก็ได้เพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า RegTech กันมากขึ้นเช่นกัน

อธิษฐา จิตรานุเคราะห์ พาร์ทเนอร์ของ Tilleke & Gibbins เล่าในงาน Startup Thailand 2018: Endless Opportunities ว่า RegTech หรือ Regulatory Technology เป็นการนำเทคโนโลยีกับเรื่องกฎระเบียบและกฎหมายมาผนวกกัน ออกมาเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การปฏิบัติตามกฎหมายง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง

โซลูชั่นที่คิดค้นกันขึ้นมา เพื่อหวังผลให้การปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาและค่าใช้จ่ายของเราๆ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และยังช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย เช่น การทำธุรกรรมต่างๆ การทำรายงานส่งรัฐ หรือการฝึกอบรมต่างๆ ที่อาจมีขั้นตอนทางกฎหมายที่เราหลงลืมหรือไม่เข้าใจ

RegTech ยังช่วยให้การจัดการข้อมูลต่างๆ ทำได้ง่ายและมีความถูกต้องมากขึ้น

การพัฒนา RegTech ในปัจจุบันได้ก้าวมาถึงจุดที่สร้างเครื่องมือที่วิเคราะห์ข้อมูล ช่วยติดตามและช่วยระบุด้วยความถูกต้อง มีรายงานให้เรา และมีเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยทำให้เราทำเอกสารทางกฎหมายได้อย่างถูกต้อง อย่างพวกสัญญาหรือข้อมูลเกี่ยวกับกรณีตัวอย่างได้ด้วย

จากงานวิจัยของ CB Insight พบว่าในปีที่แล้ว RegTech ได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับดีลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเงินทุน กองทุนต่างๆ ถึง 148 ดีล รวมมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในประเทศอังกฤษ มีสตาร์ทอัพพัฒนา RegTech อย่าง FundApps ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ เก็บไว้ในคลาวด์ ซึ่งช่วยเหลือผู้ใช้อย่างผู้จัดการกองทุนบริหารสินทรัพย์ พวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ หรือนักลงทุนสถาบันนำไปใช้งานเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในระหว่างการทำดีล โดยจ่ายค่าบริการแบบ as you use model

คุณอธิษฐาเล่าให้ฟังว่า ถึงแม้ขณะนี้ ในไทยจะมีแค่ iTax เจ้าเดียวซึ่งเป็น app ที่รวบรวมและอัพเดทกฎหมายสรรพากร เพื่อช่วยในการคำนวณภาษีรายได้ และให้คำแนะนำในการจัดการภาษี แต่ในอนาคต ยังมีอีกหลายตัวที่รอการพัฒนาเพื่อออกสู่ตลาด

“Know Your Customer (KYC) และ Customer Due Diligence(CDD) น่าจะเป็นกฎระเบียบที่จะมาแรงที่สุดที่สตาร์ทอัพจะพัฒนาแอปฯ มารองรับความต้องการตอนนี้ มีคนจำนวนมากที่อยากได้ตัวช่วยในเรื่องนี้ เพราะมันจะช่วยเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายปราบปรามการฟอกเงินและการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับสองรายการนี้”

กฏของอียู เรื่อง General Data Protection Regulation ก็เป็นอีกหนึ่งตัวที่สตาร์ทอัพจะเข้ามาพัฒนา RegTech รองรับได้ ตอนนี้ กฎหมายว่าด้วยการปกป้องข้อมูลส่วนตัวมีความเข้มข้นมากขึ้น บังคับให้พวกบริษัทที่ได้รับข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าต้องขออนุญาตลูกค้าก่อนและต้องเก็บรักษาให้เป็นอย่างดี และการจะทำให้ตามกฎหมายที่ว่านี้ ต้องปฏิบัติตามกฎ KYC ถ้ามี RegTech ช่วยก็จะทำให้ทำงานง่ายขึ้น

ทาง Tilleke & Gibbins เองก็ลงทุนเพื่อจะใช้ AI มาช่วยให้ทำ automation เต็มรูปแบบเพื่อช่วยให้บริษัทให้คำแนะนำทางกฎหมายให้กับลูกค้าได้อย่างแม่นยำ

คุณอำพรพันธุ์ วีระพงศ์ รองผู้อำนวยการด้านส่งเสริมเทคโนโลยีการเงิน เล่าให้ฟังว่าระหว่างปี 2008-2015 มีการใช้ข้อบังคับเกิดขึ้นถึง 50,000 ข้อ และค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎเหล่านี้คิดเป็นประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 32,000 ล้านบาทต่อปี

“อย่างในสิงคโปร์ล้ำหน้ามากในเรื่องของ RegTech โดยพัฒนาล้ำหน้าไปถึงขั้นทำ Suptech (Supervisory technology) เพื่อมาช่วยงานในฝ่ายผู้กำกับดูแล ในการบังคับใช้กฎหมายในการให้คำแนะนำกับผู้ปฏิบัติได้ว่าทำถูกต้องแล้วหรือไม่”

ตัว SupTech นี้ ได้รับการพัฒนาในระดับที่ช่วยเก็บรวบรวมดาต้าบนระบบดิจิทัล จัดกระบวนการปฏิบัติงาน และยังช่วยออโต้เมทกระบวนการตามกฎหมายให้ถูกต้องด้วย และยังให้คำแนะนำแบบเรียลไทม์ มีการจัดการกับการร้องเรียนของผู้บริโภค สามารถรวบรวมฟีดแบคในเรื่องประสิทธิภาพของนโยบาย ช่วยมอนิเตอร์การปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายในในการเทรดได้อีกด้วย


อ้างอิง: Bangkok Post