เรียนโค้ดดิ้งแบบ interactive ง่ายและสนุกกับ CodeKit

10 August 2021 Startups

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 2558 ถึงความคิดต่อการเขียนโค้ดหรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ พบว่า นักเรียนไทยร้อยละ 89 ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโค้ดมากขึ้น ร้อยละ 88 คิดว่าทักษะการเขียนโค้ดมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต และ 3 ใน 4 ของกลุ่มสำรวจ เห็นด้วยว่าการเขียนโค้ดเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในทุกสาขาอาชีพในอนาคต

ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ (Adecco) ที่เปิดเผยว่า เด็กที่เติบโตพร้อมกับเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนอย่าง Gen Z จะก้าวเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กร โดยคิดเป็นสัดส่วนเป็นร้อยละ 27 ของแรงงานทั้งหมดภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยกลุ่มแรงงานเหล่านี้จะเลือกอาชีพที่สามารถขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมโลกผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย

และเป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อปี 2562 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้ ‘การเขียนโค้ด’ เป็นหลักสูตรที่นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนอย่างเป็นทางการ (National Standards) มติชนออนไลน์ จะพาไปรู้จักกับ ‘CodeKit’ สตาร์ทอัพสาย EdTech (Education+Technology) ที่ passion ของพวกเขาคือการยกระดับการเรียน ‘เขียนโค้ด’ หรือ Coding ของนักเรียนให้ดีกว่าที่เป็น

รู้จัก CodeKit

ก้าวแรกของ CodeKit เริ่มในปี 2561 หลังจากชนะการประกวดในเวที Hackathon จากการก่อตั้งเว็บไซต์ Codekit.co แพลตฟอร์มสอนเขียนโค้ดออนไลน์แบบ interactive ภายใต้การจดทะเบียนชื่อ บริษัท โค้ดคิท อินโนเวชั่น จำกัด โดย ‘แมน-ชวยศ ป้อมคำ’ CEO และ ‘โท-ไพบูลย์ พนสบดี’ CTO

ชวยศ เล่าว่า ช่วงแรกของแพลตฟอร์ม เป็นช่วงของการลองผิดลองถูก หลายเวอร์ชันที่พัฒนาขึ้นมาก่อนที่จะเป็นหน้าตาที่เห็นในปัจจุบัน ล้วนแต่ไม่ได้ผลและไม่ประสบความสำเร็จ โดยเวอร์ชั่นปัจจุบันที่มีการใช้ภาพและข้อความมาประกอบกันนั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแพลตฟอร์มที่คล้ายคลึงกันของประเทศญี่ปุ่น

“เราต้องการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเขียนโค้ดที่เป็นภาษาไทย เพราะที่ผ่านมามีแพลตฟอร์มสำหรับเขียนโค้ดมากมาย แต่กลับพบปัญหาด้านภาษา ทำให้ผู้เรียนใช้เวลานานในการแปลข้อความต่างๆ ประกอบกับมีประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ‘การเพิ่มวิชาการเขียนโปรแกรมลงไปในหลักสูตรของเด็กประถมและมัธยม’ เรากลับพบว่าการสอนวิชาการเขียนโปรแกรมในโรงเรียนยังขาดเครื่องมือที่จะช่วยให้ครูสอนได้ง่ายขึ้นและนักเรียนเรียนได้อย่างเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น ทั้งสองเหตุผลนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด CodeKit ขึ้นมา”

ก่อนจะมาเป็นสตาร์ทอัพสาย EdTech

ชวยศ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาทำงานให้คำปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมในองค์กร ไม่เคยคิดที่จะมาทำสตาร์ทอัพด้านการศึกษาในเรื่องการเขียนโค้ดมาก่อน เพราะตัวเขาเองก็เขียนโค้ดไม่เป็น แต่กล้าที่จะเริ่มต้น เรียนรู้ใหม่ และคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องเรียนรู้พื้นฐานจนเข้าใจ ก็สามารถทำงานฝั่งเทคโนโลยีได้

“จุดเปลี่ยนที่เริ่มหันมาทำ CodeKit มาจาก passion ด้านการศึกษา เพราะเดิมก็ทำงานเกี่ยวกับการฝึกอบรมค่อนข้างเยอะ บวกกับความสนใจในเทคโนโลยี รวมถึงโอกาสที่ได้รับจากการประกวด เราก็ต้องคว้าเอาไว้”

CodeKit มีไว้เพื่อใคร

สำหรับแพลตฟอร์ม CodeKit เป็นเว็บไซต์สำหรับหัดเขียนโปรแกรม แอปพลิเคชัน ด้วยวิธีการเขียนโค้ดในระดับพื้นฐาน จึงเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานของการเรียนในระดับต่อไป แต่กลุ่มเป้าหมายสำคัญของแพลตฟอร์ม คือ กลุ่มเด็กระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับมัธยม ที่อยากเริ่มต้นเรียน

“การฝึกเขียนโค้ดผ่านเว็บไซต์ Codekit.co จะมีลักษณะเหมือนกับการเล่มเกม ต้องผ่านด่านแต่ละด่าน โดยใช้โค้ดเป็นตัวนำ มีขั้นตอนให้ฝึกฝน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานของวิชาว่าด้วยการเขียนโค้ดให้ก้าวสู่ในระดับที่ยากขึ้นต่อไป”

โดยปัจจุบัน CodeKit มีสมาชิกราว 20,000 คน มีโรงเรียนกว่า 500 แห่งสนใจนำหลักสูตร CodeKit เข้าไปสอน แต่ด้วยการดูแลที่ยังไม่ทั่วถึงของทีมงานที่มี 5 คน จึงสามารถดูแลได้เพียง 50 โรงเรียนเท่านั้น

ชวยศ บอกว่า นอกจากบทเรียนที่ง่ายคล้ายกับเกม แต่อีกสิ่งที่โดดเด่นคือ ความหลากหลายของภาษาให้เลือกเรียน เช่น หากผู้เรียนมีความสนใจอยากเรียนการเขียนเว็บไซต์ ก็จะมีภาษาซี (C Programming Language) ให้เรียน ส่วนใครที่สนใจอยากทำ AI ก็จะมีภาษาไพทอน (Python) รองรับ

สำหรับผู้สอนเองก็สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่เป็นระบบควบคุมอัตโนมัติ เริ่มต้นการทำงานได้เองผ่านการรันโปรแกรมที่วางไว้ (Automated) ช่วยควบคุม สั่งงานหรือรับคำสั่งงานต่างๆ เปิดให้เข้าเรียนกี่คนก็ได้ สร้างตารางเรียน ทำข้อสอบและระบบการตรวจคำตอบได้เอง รวมถึง สามารถสร้างห้องเรียนเฉพาะที่มีเนื้อหาและข้อสอบตามความต้องการ เพื่อให้ผู้สอนทำงานได้อย่างมีประสิทธิมากที่สุด

“และยังมีฟังก์ชัน Progress Bar เป็นระบบหลังบ้านที่ให้ครูผู้สอนดูว่า นักเรียนคนไหน เรียนไหว เรียนไม่ไหว โดยไม่จำเป็นต้องโฟกัสกับจอตลอดเวลาเหมือนโปรแกรมวิดีโอการสอนอื่นๆ”

ผลกระทบจากโควิดช่วยสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจหลายแห่งล้วนได้รับผลกระทบ ซึ่ง CodeKit เองก็เช่นเดียวกัน ชวยศ บอกว่า “แผนการขยายไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั้งเรื่องของการไปนำเสนอแพลตฟอร์ม พูดคุยทางธุรกิจ ต้องหยุด เพราะสถานการณ์ทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบาก โรงเรียนก็ปรับเป็นการเรียนออนไลน์ แต่ทำให้เรามองเห็นโอกาสสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเราเน้นการแจกหลักสูตร ให้ข้อมูล ผ่านโซเชียลมีเดียให้คนรู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น”

เมื่อถามว่าการทำธุรกิจตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบเจอปัญหาอะไรบ้าง เขาบอกว่า สิ่งที่ต้องเจอ คือ ความเคยชินของบุคลากรในสถานศึกษา เป็นความท้าทายให้พวกเขาต้องพยายามสร้างบทพิสูจน์และความเชื่อมั่นในการทำงานของแพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์การเรียนการสอนแบบใหม่ได้

ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์

CodeKit เปิดโอกาสให้สถานศึกษาได้นำไปปรับใช้กับหลักสูตรการเขียนโค้ดในโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่ง ชวยศ เล่าว่ามีการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ทั้งโรงเรียนที่นำแพลตฟอร์มไปใช้ รวมถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยการร่วมร่างหลักสูตรและการวางพื้นฐานการเรียนรู้ในการสร้างเว็บไซต์ เพื่อนำแพลตฟอร์มไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งปัจจุบันมีการทำความร่วมมือในเบื้องต้นแล้ว 4 – 5 แห่ง

นอกจากนี้ CodeKit ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ เพื่อทำความร่วมมือเข้าสู่สถานศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย

เป้าหมายต่อจากนี้ไปของ “CodeKit”

“สำหรับเป้าหมายในอนาคตของสตาร์ทอัพ CodeKit ตั้งเป้าไว้ว่าปี 2025 จะต้องเพิ่มสมาชิกที่เป็นกลุ่มโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ให้ได้มากกว่า 1,000 โรงเรียน และมีเด็กเข้ามาเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์จำนวนอย่างน้อย 5 แสนคน โดยแผนการดำเนินงานในระยะ 3 ปี ต่อจากนี้จะเดินหน้าขยายจำนวนสมาชิก จาก 50 เป็น 100 โรงเรียน และยังเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมมือให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อระบบการศึกษาไทย”

และในฐานะรุ่นพี่ในวงการสตาร์ทอัพ จึงอยากฝากคำแนะนำให้กับผู้ที่คิดริเริ่ม หรือมีความฝันอยากทำธุรกิจว่า ไม่ว่าสถานการณ์ในสังคมจะแย่แค่ไหน เชื่อว่ามีหนทางในการสร้างตัวตนได้เสมอ เพราะด้วยธรรมชาติของสตาร์ทอัพนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคม

“ธุรกิจสตาร์ทอัพมีโอกาสเสมอ ไม่ได้ยากขึ้น ไม่ได้ง่ายลง แม้เศรษฐกิจย่ำแย่ แต่ขอให้เชื่อว่ามีโอกาสเสมอ สิ่งที่ต้องจับตาดูให้ดี คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนไป ยิ่งหลังสถานการณ์โควิดผ่านพ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นยังไงต้องวางแผนให้ดี ให้เชื่อว่าโอกาสมันมี และต้องรีบลงมือทำ ต้องรีบไขว่คว้า”

ก่อนจบบทสนทนา ชวยศ ป้อมคำ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง CodeKit เจ้าของเว็บไซต์สอนเขียนโค้ดออนไลน์แบบ interactive ทิ้งท้ายไว้ว่า “เมื่อคิดจะเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ ต้องหาจุดเล็กๆ แล้วเริ่มต้นจากสิ่งที่กลุ่มเล็กๆ นั้นชอบ จากนั้นให้มองหาโอกาสที่จะสามารถขยายต่อไปได้”