Farmto แพลตฟอร์มจองผลผลิตจากเกษตร ปูทางสู่เกษตรแบ่งปันในประเทศไทย

24 July 2021 Startups

‘Farmto’ สตาร์ทอัพ AgriTech ไอเดียแจ่ม จองผลผลิตก่อนปลูก บุกเบิกเกษตรแบ่งปัน

ที่นี่มีเรื่องเล่าจากชาวเกษตร

 สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่มีอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพที่นำเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือช่วยให้เกษตรกรเพาะปลูกแล้วได้จำนวนผลผลิตมากขึ้น หรือสามารถกำหนดระยะเวลาของการผลิดอกออกผลได้ตามความต้องการของตลาด

 แต่มีหนึ่งในสตาร์ทอัพ agritech ที่มีไอเดียแปลกแหวกแนว สร้างมูลค่าด้วยการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อ-ขายผลผลิตการเกษตรที่วางรูปแบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสซื้อกับเกษตรกรเจ้าของไร่โดยตรงด้วยระบบพรีออเดอร์ จองผลผลิตที่สนใจได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มพรวนดิน ระหว่างที่รอเก็บเกี่ยว ก็สามารถขายเรื่องราวของจุดเด่นและความน่าสนใจได้อีก

ที่สำคัญช่วยให้เกษตรกรสร้างแบรนด์ของตัวเอง กำหนดราคาได้ตามความเหมาะสม ขณะเดียวกันผู้ซื้อก็ได้มีส่วนร่วมดูแล เห็นการเจริญเติบโตของผลผลิตที่จับจองไปจนกว่าถึงเวลาเก็บเกี่ยวมาบริโภคอย่างอิ่มท้องและอิ่มใจ

‘โต-อาทิตย์ จันทร์นนทชัย’ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฟาร์มโตะ ไทยแลนด์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ‘Farmto’ เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่งของวงการเกษตรแนวใหม่ว่า ตัวเขาเองไม่ได้มีพื้นเพในครอบครัวเกษตรมาก่อน หลังจากเรียนจบคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ทำงานตามสายที่เรียนจบตามแบบฉบับของมนุษย์เงินเดือน ขณะเดียวกันก็ชอบปลูกต้นไม้ วันหยุดแทบจะไม่รับงานพิเศษหรือเที่ยวเตร่ตามประสาคนหนุ่ม แต่จะไปตระเวนหาซื้อต้นไม้มาปลูก มีความสุขจากการได้เฝ้าดูแต่ละต้นที่เติบโตแตกกิ่งก้านออกดอกออกผลไปเรื่อยๆ

“ต่อมาผมเริ่มสนใจเรื่องของเกษตรอินทรีย์ ก็เลยไปหาซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ ย่านรังสิต ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรวันหยุดอย่างเต็มตัว มีทั้งนาข้าวและแปลงผัก ช่วงแรกๆ ที่ได้ผลผลิตก็นำมาบริโภคในครอบครัวกับแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ทำให้มีความคิดว่าน่าจะทำเป็นแปลงเกษตรแบบแบ่งปัน ก็เลยไปร่วมกลุ่มเกษตรกรของตำบล”

ระหว่างที่อาทิตย์เริ่มทดลองแปลงปลูกผักเกษตรแบ่งปัน เขาและเพื่อนๆ ก็มีแนวคิดว่า หากผู้บริโภคหรือลูกค้าได้รับรู้ถึงแหล่งที่มาของผลผลิตการเกษตรที่มากกว่าการตรวจสอบย้อนกลับ แต่ได้มีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน ก็จะทำให้ได้รับประสบการณ์และสัมพันธภาพกับเกษตรกรเจ้าของไร่ เกษตรกรเองก็ได้รู้ว่าผู้บริโภคมีความต้องการอย่างไร ได้มีโอกาสแชร์เรื่องราวของผลผลิตตั้งแต่ก่อนปลูกจนถึงมือผู้บริโภค บอกได้ว่าเทคนิคการปลูกเป็นอย่างไร ทำไมถึงบริโภคได้อย่างปลอดภัย ได้รับการรับรองหรือมาตรฐานจากหน่วยงานใดบ้าง เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในแบบ Story Telling ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย

หลังจากโมเดลเกษตรแบ่งปันเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง อาทิตย์และเพื่อนก็ร่วมกันลงขันสร้างแพลตฟอร์ม ‘Farmto’ ขึ้นมาเพื่อทำตามแนวคิดดังกล่าวโดยอาศัยความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของแต่ละคน เริ่มจากเขาเองที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเกษตร เพื่อนคนที่สองมีความเชี่ยวชาญเรื่องการโฆษณาและการตลาด ทั้งถ่ายภาพ ออกแบบกราฟฟิก จึงได้รับหน้าที่โปรโมทเพจในเฟซบุ๊กกับสร้างเว็บไซต์

“ผู้ร่วมก่อตั้งคนที่สามช่วยทางด้าน UX/UI และแอปพลิเคชัน เพราะเรียนจบทางด้านนี้มาโดยตรง ก็มาดูแล Inbox และระบบหลังบ้านของ Farmto ช่วงที่เริ่มทำกันแรกๆ ค่อนข้างงง ไม่รู้ว่าใครสั่งจองอะไรบ้าง หรือจองไว้จำนวนเท่าไร ต้องย้อนกลับไปเปิดดูตลอดเวลา ทำให้การบริหารจัดการยากและต้องใช้คนเยอะ เพื่อนคนนี้ก็มาช่วยตั้งแต่เขียนเว็บไซต์ สร้างช่องทางไลน์ออฟฟิเชียลให้โต้ตอบลูกค้าอัตโนมัติ สุดท้ายคือทำแอปพลิเคชัน แต่ปัจจุบันมีอีกหนึ่งโค-ฟาวเดอร์เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานทั้งหมด ดูแลต้นทุนและช่วยแนะนำราคาจำหน่ายให้แก่เกษตรกร”

พบเจออุปสรรคมากมายตั้งแต่เริ่มต้น

“ด้วยความที่มุ่งเป้าไปที่เกษตรแบ่งปัน อยากให้เห็นว่านาข้าวของ Farmto มีลูกค้าที่ชอบเกษตรอินทรีย์มาจับจองตั้งแต่เริ่มปลูก แต่ในเวลานั้นคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่มีใครเชื่อว่าเราขายข้าวได้ตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ แทบจะยังไม่ได้ลงมือปลูกด้วยซ้ำ (ยิ้ม) เราจึงใช้วิธีบอกเล่าเรื่องราวเพื่อเชิญชวนให้คนมาร่วมลงทุนกับ Farmto มาสัมผัสกับประสบการณ์ไปด้วยกันด้วยการถ่ายภาพนาข้าวของตัวเองให้เพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กและที่ติดตามเพจ ได้มาร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันลงมือปลูก กระทั่งมีคนสนใจมาร่วมกันทดลองปลูกประมาณ 100 คนแล้วได้รับข้าวกลับไปจริงๆ มีภาพของจริงตั้งแต่บรรยากาศวันปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยว”

การทำเกษตรแบบแบ่งปันยังช่วยแก้ไขปัญหาของผู้ปลูกเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าการทำเกษตรแบบทั่วไป ทั้งปลูกยาก ได้ผลผลิตน้อย แต่กลับไม่สามารถขายในราคาที่ควรเป็น เพราะถูกพ่อค้าคนกลางกำหนดราคาแบบเหมารวมกับผลผลิตที่ปลูกแบบทั่วไป ทำให้มีเกษตรกรคนอื่นๆ สนใจอยากมาร่วมเป็นเครือข่ายกับ Farmto ส่งผลให้จากแปลงข้าวเกษตรอินทรีย์ต่อยอดไปสู่พืชผักผลไม้และอื่นๆ ที่ได้จากการแปรรูป เช่น กาแฟป่า น้ำผึ้งป่า อะโวคาโด ฯลฯ โดยให้ลูกค้าจับจองกันล่วงหน้าผ่านเว็ปไซต์

เดินสายประกวดหาทุนพัฒนาแอปฯ

บนเส้นทางการเป็นสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมโดยเริ่มจากไปประกวดแผนงานสตาร์ทอัพกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รับเงินสนับสนุนเป็นขวัญถุงก้อนแรก พร้อมกับเข้าประกวดโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 7 ของ บมจ.บ้านปู จนคว้ารางวัลกิจการเพื่อสังคมดีเด่น ได้รับเงินทุนมาพัฒนาสานต่อให้เป็นแผนการดำเนินกิจการที่ตอบโจทย์ธุรกิจควบคู่ไปกับสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่สังคม ต่อด้วยการเดินสายประกวดตามเวทีสตาร์ทอัพต่างๆ จนกวาดไปกว่า 10 รางวัลในช่วงระยะเวลา 3 ปี

เขานำเงินที่ได้ทั้งหมดมาพัฒนาแอปพลิเคชันด้วยความตั้งใจจริงที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกรทั่วประเทศ กับ 3 ฟีเจอร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นบนแพลตฟอร์ม Farmto เริ่มจากฟีเจอร์ที่หนึ่ง การพรีออเดอร์ผลผลิตล่วงหน้าหรือร่วมเป็นเจ้าของ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนของเกษตรกร สร้างตลาดรองรับแบบล่วงหน้า

ส่วนฟีเจอร์ที่สองเป็นการสร้างคลังสินค้าออนไลน์ (Marketplace) เมื่อสร้างผลผลิตที่ดี เริ่มขายหรือแบ่งปันสู่ท้องตลาดไปแล้ว Farmto ก็อยากให้เกษตรกรเปลี่ยนจากคนขายวัตถุดิบมาสู่ผู้ประกอบการแบรนด์สินค้าของตัวเอง (Entrepreneur) เพราะผลผลิตเกษตรแปรรูปจะช่วยสร้างมูลค่าและรายได้ให้มากขึ้น อายุการเก็บรักษา (Shelf life) ก็นานขึ้น เกษตรกรในเครือข่ายอาจนำผลิตผลมาแปรรูปร่วมกันก็ได้ โดย Farmto จะช่วยคิดช่วยวางแผนเพื่อให้ขายของที่มีอยู่ได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“ช่วงที่ผมเปิดให้จองผลผลิตล่วงหน้า มีคนสนใจมาเยี่ยมชมนาข้าวของเราที่กำลังเก็บเกี่ยว ก็เลยเกิดเป็นไอเดียสำหรับฟีเจอร์ที่สาม ด้วยการทำกิจกรรมทางการเกษตรและท่องเที่ยวเกษตร เพราะระหว่างรอบการเพาะปลูกจะเป็นช่วงที่เกษตรกรไม่มีรายได้ แต่ถ้าเปิดโอกาสให้คนมาทัศนศึกษา มาฟังเรื่องราวและความรู้บนแปลงเกษตร ก็จะทำให้เกิดเป็นรายได้เสริมขึ้นมาได้”

อาทิตย์ยังบอกอีกว่า กำลังจะทำฟีเจอร์ที่สี่ในรูปแบบการแบ่งปันอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับเกษตรกรในเครือข่าย หรืออาจจะเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ อำเภอหรือจังหวัดเดียวกัน เพื่อแก้ไขอุปสรรค (Pain Point) ด้านการขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ได้ง่าย ทำให้ตัดวงจรการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาผ่อนรถไถหรือรถตักดินไปได้

เพียงก้าวแรกของความสำเร็จ

 ปัจจุบัน Farmto มีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปแล้วกว่า 3,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 50% เป็นเกษตรกร โดยเกษตรกรในเครือข่ายส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือและตามพื้นที่ห่างไกล ช่องทางการขายผ่านออนไลน์จึงช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

และด้วยจุดขายของการเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างมูลค่าทั้งผลผลิตบวกกับเรื่องเล่าจากแปลงเกษตร ช่วยให้เกษตรกรที่เข้ามาในระบบแล้วเติบโตไปพร้อมๆ กัน เป็นความแตกต่างไปจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เป็นเพียงคลังสินค้าออนไลน์ จึงนับได้ว่า Farmto ไม่มีคู่แข่งของการทำธุรกิจในรูปแบบเดียวกัน

 “แต่ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จหรือยัง ตอบได้เลยว่าเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น แม้ว่าเราจะช่วยให้เกษตรกรมียอดขายดีขึ้น แต่เป็นรายได้กลับมาสู่ Farmto น้อยมาก ด้วยความที่แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและนักลงทุนโดยไม่ได้หวังกำไรจากเกษตรกร เพียงแค่ให้มีเครื่องมือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับก้าวเดินต่อไป มีเงินจ้างน้องๆ แอดมินมาช่วยกันดูแลระบบหลังบ้าน เราจึงวางแผนว่า เมื่อเกษตรกรเข้ามาในระบบแล้วเกิดเป็นรายได้ที่ช่วยให้แพลตฟอร์มขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เองโดยไม่ต้องใช้เงินทุน อีกทางหนึ่งคือการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้แบบ 360 องศา ส่งออกผลผลิตไปต่างประเทศได้ นี่แหละคือเป้าหมายของ Farmto”

 “นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่รู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วม จากการที่มีโอกาสลงพื้นที่แล้วเห็นว่าชุมชนหลายแห่งมีพื้นที่ป่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ไม่ควรขายเพียงแค่ผลผลิตทางการเกษตร บางอย่างที่เหลือจากการเพาะปลูก เช่น ใบ ต้น กิ่งก้าน สามารถนำมาทำเป็นจานใบไม้หรือหลอด จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทาง นำมาสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าของเกษตรกรก็ได้ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่ไปกับช่วยลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องไปเผาหรือทำลายให้เกิดเป็นฝุ่นจิ๋ว”

คำแนะนำถึงสตาร์ทอัพรุ่นน้อง และสิ่งที่อยากได้จากภาครัฐ

ชายหนุ่มผู้บุกเบิกไอเดียเกษตรแบ่งปันบอกว่า พวกเขาเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่มีจุดเริ่มต้นในการสร้างธุรกิจจาก Passion ก็จริง แต่เมื่อผ่านกระบวนการคิดการออกแบบที่ดี จึงนำไปสู่ช่องทางที่ช่วยให้สำเร็จตามที่ตั้งใจแล้วก็มีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปได้

“ช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด แน่นอนว่าส่งผลกระทบถึง Farmto ด้วยเช่นกัน ทำงานยากขึ้นเพราะต้องมีการจัดส่งผลผลิต ส่งตัวอย่าง ต้องไปพบเจอกับเกษตรกร โควิดทำให้งานช้าลง แต่ก็พยายามปรับตัวเพราะเชื้อไวรัสนี้คงอยู่กับคนทั้งโลกไปอีกนาน ต้องหาวิธีแก้ไขกันไป อาจจะหาตลาดในมุมใหม่ๆ แต่ไม่อยากให้น้องๆ คนรุ่นใหม่หมดกำลังใจ ต้องคิดว่าในทุกวิกฤตนั้นมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ”

“ที่ผ่านมา Farmto มีโอกาสเข้าร่วมกับภาครัฐและได้รับการสนับสนุนอย่างดี ก็หวังให้ได้รับการสนับสนุนต่อยอดขึ้นไปอีก เช่น ให้ทุนเพื่อจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่านี้ หรือเพิ่มช่องทางให้ได้ร่วมงานกับจังหวัดต่างๆ เพื่อหาแนวทางนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรมาแล้วอย่างสินค้า OTOP มาพัฒนาให้พรีเมียมยิ่งขึ้น”

“สุดท้ายนี้ก็ขอฝากถึงภาครัฐและเอกชนผู้ประกอบการที่สนใจ อยากสนับสนุนแนวคิดของ Farmto หรือเห็นความสำคัญของการเป็นสตาร์ทอัพที่มีส่วนช่วยให้เกษตรกร สังคมไทย และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น อาจจะเป็นพาร์ทเนอร์สั่งซื้อสินค้า ช่วยกันกำหนดราคาก็ได้ เพื่อมาร่วมกันสร้าง ecosystem เกษตรแบ่งปันไปด้วยกัน”