นวัตกรรมโดรนฉีดพ่น สำหรับเกษตรกร Gaorai

6 July 2021 Startups

ในขณะที่โควิด-19 กลายเป็นปัญหาหลักที่ทุกคนต่างต้องหาทางรอด และพยายามมองหาโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางวิกฤตนี้ ความตื่นตระหนกทำให้เรามองข้ามอีกปัญหาใหญ่ของประเทศที่ยังคงเดินหน้าต่อ นั่นก็คือ ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565

“ตั้งแต่ปี 2560 เรามองเห็นแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และมีจำนวนสูงถึง 10% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งกว่าครึ่งของกลุ่มผู้สูงอายุหาเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุส่งผลให้อุตสาหกรรมการเกษตรมีกำลังแรงงานลดลง” ธนกร โอเจริญชัย หนึ่งในผู้บริหาร บริษัท เก้าไร่ บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด กล่าว

บริษัท เก้าไร่ บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้บริการ บริหารจัดการ และพัฒนาระบบจัดการทางการเกษตร โดยมีผลิตภัณฑ์หลักคือ แพลตฟอร์มให้บริการโดรนสำหรับฉีดพ่นพืชพรรณทางการเกษตร รวมถึงการเก็บและประมวลผลข้อมูลการฉีดพ่นต่างๆ เพื่อการดูแลพืชผลได้ดีขึ้น และผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ภายใต้การบริหารของ CEO มาธัส แดเนียลลาวีซุส โดยมีทีมบริหารที่เชี่ยวชาญ ซึ่งรวมถึง แคสทิส เคมิสเชียส หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ และธนกร โอเจริญชัย สองผู้บริหารด้านการพัฒนาธุรกิจ

“จากมุมมองของ CEO การพ่นยากำจัดวัชพืชด้วยการเดินเท้าฉีดไปทั่วไร่ นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแรงงานและเวลาแล้ว ยังเป็นวิธีที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง อีกทั้งยังไม่แม่นยำ อันเกิดจากความเหนื่อยล้าของแรงงานที่ต้องทำงานกลางแดด ในขณะที่การนำโดรนมาใช้ในการฉีดพ่นยาจากทางอากาศทำให้การพ่นยาทั่วถึง สม่ำเสมอ และใช้เวลาน้อยกว่า จึงช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย” ธนกร กล่าว

ในอีกมุมหนึ่ง แอปพลิเคชัน “เก้าไร่” เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเจ้าของโดรนทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งอาชีพเกิดใหม่ในทศวรรษนี้ โดยบริษัทฯ เปิดโอกาสให้เจ้าของโดรนที่จดทะเบียนถูกต้อง สามารถรับงานผ่านแอปพลิเคชันได้ “เราจะเสนองานให้กับเจ้าของโดรนเป็นแพ็กเกจหลากหลาย โดยเริ่มตั้งแต่จำนวนไม่กี่ไร่ ไปจนถึงหลายร้อยไร่ โดยมีราคาต่อไร่เริ่มต้นเพียง 70 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำยา ประเภท และที่ตั้งของฟาร์ม”

แม้ว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร “เก้าไร่” จะมีแต้มต่อในด้านการเล็งเห็นศักยภาพของภูมิประเทศของประเทศไทยที่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าว ที่ไทยส่งออกติดอันดับหนึ่งในสามของโลก หรือความเชี่ยวชาญและวิทยาการด้านการเกษตรจากต่างประเทศ รวมไปถึงความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมอย่างแอปพลิเคชัน UX และ UI Design และการมีเครือข่ายผู้ขับโดรน การเริ่มต้นธุรกิจจำเป็นต้องมีความพร้อมด้านทุนทรัพย์เพื่อให้ธุรกิจก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการหลายรายนำเสนอธุรกิจประเภทนี้เข้าสู่ตลาดเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการรับงานสเกลใหญ่ หรือในลักษณะ B2B (ธุรกิจระหว่างหน่วยธุรกิจกับหน่วยธุรกิจ) ในขณะที่เราตั้งเป้าที่จะเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรตัวจริง และมุ่งเน้นสนับสนุนเกษตรกรเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น เรามองเห็นปัญหาว่า เกษตรกรไทยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี และส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง” ธนกร เผย “การเปิดตัวนวัตกรรมนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงการเปิดตัวแอปฯ ‘เก้าไร่’ เท่านั้น แต่เป็นการระดมทุนในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต่างๆ”

หลังจากการประชาสัมพันธ์และรวบรวมกลุ่มพันธมิตรเครือข่าย ‘เก้าไร่’ ได้เปิดตัวนวัตกรรมผ่านการประกวดระดับชาติมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วม ‘โครงการนวัตกรรมแห่งชาติ’ ที่จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ และช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ของ NIA ซึ่งเป็นองค์กรระดับประเทศที่มีเครือข่ายกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“พอเกษตรกรเห็นว่ามีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง มักจะคิดว่าราคาจะต้องสูงลิ่ว แต่จริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายในการพ่นยาด้วยโดรนของ ‘เก้าไร่’ พอๆ กับการพ่นยาแบบเดิมๆ แถมโดรนยังใช้เวลาน้อยกว่าและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เราลงทุนซื้อโดรนเพื่อนำมาสาธิตให้เกษตรกรเห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานในลักษณะนี้ และการสร้างเครือข่ายเจ้าของโดรนในพื้นที่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็เป็นอีกกลยุทธ์ในการลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้เจ้าของโดรน”

นอกจากการขับเคลื่อนความรู้ความเข้าใจไปสู่กลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิดการยอมรับแล้ว ยังต้องมั่นใจด้วยว่า การใช้งานแอปพลิเคชัน ‘เก้าไร่’ จะต้องง่ายและสะดวกสำหรับเกษตรกร ซึ่งแม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้คนไทยทั่วประเทศ รวมไปถึงชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เกิดการเรียนรู้การใช้งานผ่านแอปฯ อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การใช้บริการผ่านเทคโนโลยียังคงเป็นเรื่องยุ่งยาก

“เราตัดปัญหาเรื่องขั้นตอนการจ่ายเงิน เช่น การโอนเงินผ่านธนาคาร หรือโอนเงินค่าบริการล่วงหน้า โดยเกษตรกรสามารถชำระเงินกับผู้บังคับโดรนได้โดยตรง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องคนกลาง นอกจากนี้ เรายังออกแบบให้แอปฯ มีปุ่มใช้งานไม่ซับซ้อน เพื่อให้เกษตรกรเรียกใช้บริการโดรนเองได้อย่างง่ายดาย”

ปัจจุบัน ‘เก้าไร่’ สามารถสร้างการยอมรับในกลุ่มเกษตรกรได้หลายกลุ่ม จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ธุรกิจของบริษัทฯ เริ่มต้นได้ดี “ก้าวต่อไปของเราคือ การขยายการรับรู้ไปสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือทายาทของกลุ่มเกษตรกร ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมของไทยในอนาคต” ธนกร กล่าวทิ้งท้าย

บริษัท เก้าไร่ บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด มุ่งหวังที่ขยายธุรกิจไปสู่พืชเกษตรอื่นๆ รวมไปถึงพื้นที่ให้บริการ เทคโนโลยีในการพัฒนาการเกษตร รวมไปถึงเครือข่ายโดรน และในอนาคต ประเทศไทยคงจะได้เห็นการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่าง “คนละครึ่ง” ที่ใครต่อใครใช้กันทั่วบ้านทั่วเมืองก็เป็นได้