“PharmaSafe” แอปฯ ผู้ช่วยพยาบาลอัจฉริยะ เซฟหมอ ดูแลผู้ป่วยอยู่บ้านปลอดโควิด-19

25 April 2020 Lifestyle

สตาร์ทอัพเฮลธ์เทค พัฒนา “PharmaSafe” ยกระดับระบบสาธารณสุขไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19 ช่วยชีวิตแพทย์พยาบาลลดเสี่ยงติดเชื้อ หนุนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดูแลสุขภาพตัวเองอยู่กับบ้าน ลดปัญหาแออัดในโรงพยาบาล

โมบายแอปพลิเคชัน “PharmaSafe” พัฒนาโดยสตาร์ทอัพไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ด้วยเป้าหมายการนำองค์ความรู้ของสตาร์ทอัพเฮล์ทเทคส่งเสริมระบบสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพและหาโซลูชั่นใหม่ๆ ลดความแออัดการใช้บริการในโรงพยาบาล ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพด้วยตัวเอง อยู่กับบ้านรับประทานยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ทั้งนี้การเสียชีวิตของคนไทยอันมีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อและโรคเรื้อรังร้ายแรง  ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหอบหืด จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีสุขภาพร่างกายอ่อนไหวต้องทานยาไปตลอดชีวิตและต้องอยู่ภายในการควบคุมดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

นายจักร โกศัลยวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทวายอิง จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน PharmaSafe กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ “PharmaSafe” กลายเป็นหนึ่งในโซลูชั่นการแพทย์ในอนาคต เพราะได้ช่วยชีวิตแพทย์พยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 ลดปัญหาความแออัดจากการรอตรวจโรคและรับยาของผู้ป่วย

แอปพลิเคชัน PharmaSafe ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ โดยช่วยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อให้สามารถทานยาได้ปกติและตรวจวินิจฉัยผ่านการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine โดยแพทย์และผู้ป่วยใกล้ชิดกันเหมือนสถานการณ์ปกติ เพราะแพทย์มีฐานข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยอยู่ในมือผ่าน PharmaSafe จึงเป็นเสมือน “AI พยาบาลผู้ช่วย” ตั้งแต่การแจ้งเตือนทานยาให้ตรงเวลา บันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น ชีพจร ความดัน หรือรายงานสิ่งบ่งชี้ที่ส่อเค้าว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ หากตรวจพบจะแจ้งเตือนให้โรงพยาบาลและแพทย์รับทราบในทันทีเพื่อเร่งให้การรักษา อาทิ โทรศัทพ์มาให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย หรือส่งรถพยาบาลฉุกเฉินมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้ได้เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา

นายจักร ในฐานะนายกสมาคม Health Tech แห่งประเทศไทย กล่าวว่า PharmaSafe เป็นการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการด้านยาแก่ผู้ป่วย เป็นผู้ช่วยการใช้ยาอัตโนมัติให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีข้อมูลยาที่ได้รับจ่ายจากโรงพยาบาลอย่างครบถ้วน มีคำแนะนำการใช้ มีการเตือนเวลาการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอัตโนมัติ และมีระบบเตือนความเสี่ยงของการแพ้ยาอัตโนมัติ

ซีอีโอ PharmaSafe กล่าวว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการจำนวน 8,500 คน ใน 6 โรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลกระบี่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น ล่าสุดขยายไปในโรงพยาบาลสนามที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 50 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคไม่ติต่อที่ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันตามมาตรการ Quarantine โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์หรือรับยาที่โรงพยาบาล จุดประสงค์สำคัญเพื่อลดภาระแพทย์พยาบาลที่กำลังทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในโรงพยาบาลในขณะนี้ รวมถึงลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยด้วย

โดยผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จากนั้นทางโรงพยาบาลจะจ่ายยาล่วงหน้า 6 เดือน โดยผู้ป่วยรับประทานยาตามคำแนะนำจากแอปพลิเคชัน โดยมีแพทย์คอยติดตามข้อมูลสุขภาพผ่านทาง www.pharmasafe.com  โดยมีปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเสมือน “พยาบาลพี่เลี้ยง” ส่งข้อมูลสุขภาพให้แพทย์รับทราบและคอยแจ้งเตือนด้วยเสียงให้ผู้ป่วยทานยาให้ตรงเวลาและประเภทยาตามที่ระบุไว้บนหน้ากระดานที่ใช้ในการสรุปข้อมูล หรือ Dashboard บนแอพพลิเคชันในโทรศัทพ์มือถือ

PharmaSafe เป็นการเก็บข้อมูลสุขภาพและพฤติกรรมผู้ป่วยที่รับการรักษาตัวอยู่กับบ้าน ซึ่งในอนาคตฐานข้อมูลนี้จำเป็นอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขและการแพทย์ทางไกล และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการเข้ารับการรักษารูปแบบใหม่ที่เน้นให้ผู้ป่วยดูแลรักษาสุขภาพตนเองอยู่กับบ้านโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ประโยชน์ อาทิ ตรวจวัดความดัน ชีพจร อุณหภูมิร่างกาย ค่าความเจ็บปวดในโรคบางชนิด หรือ ค่าน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน จากนั้นบันทึกและส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้แอปพลิเคชันและแพทย์วินิจฉัย