นวัตกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมจุดเปลี่ยนอนาคตพลังงาน

8 September 2020 Technology

EA ผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ชี้ นวัตกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน คือ จุดเปลี่ยนอนาคตพลังงานจับมือ จุฬาฯ เร่งวิจัยรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมกลับมาใช้ใหม่ หากสำเร็จจะดันไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ผู้นำการออกแบบและผลิตเพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เจ้าของไอเดียรถยนต์ MINE SPA1 และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคนวัตกรรมพลังงาน จึงจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะ นวัตกรรมพลังงานอนาคตจากนวัตกรรมแบตเตอรี่ เนื่องจากแบตเตอรี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการดำเนินธุรกิจพลังงานทางเลือกของ EA จึงได้เริ่มพัฒนา โรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต 

ทั้งนี้ EA และ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ATT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาโครงการที่จะนำไปสู่การรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของกลุ่ม EA อย่างครบวงจรตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ผลิตเซลแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไปจนถึงการนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สิ้นอายุการใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิลได้ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เป็นฐานการลงทุนอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ 

ทั้งนี้ ATT และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะร่วมกันศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดย ATT จะสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรในโครงการจัดทำเครื่องต้นแบบระบบคายประจุไฟฟ้าและเครื่องแยกชิ้นส่วนเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน และการศึกษากระบวนการนำโลหะมีค่าจากแบตเตอรี่กลับมาใช้งานใหม่ สำหรับเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาโรงงานนำร่องรีไซเคิลแบตเตอรี่ครบวงจร ซึ่ง ATT จะนำผลการศึกษาจากโครงการไปประยุกต์ใช้ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากจบการดำเนินงานโครงการ 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแบตเตอรี่นี้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและยังใช้เวลานานกว่าจะพัฒนาจนเข้าสู่ระยะที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้  หากภาครัฐร่วมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตและแข่งขันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดหรือยกเว้นอัตราภาษีในรูปแบบต่าง ๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ไทยกลับมาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ และฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ