แบงค์ ใช้ Face Recognition ควบ รหัสลับ

6 September 2020 Technology

เทคโนโลยี Face Recognition ทิศทางสดใส สตาร์ทอัพ เริ่มลงสนามจับคู่ธุรกิจ เหตุ แบงก์ เริ่มนำมาใช้คู่กับ รหัส Password เพิ่มความปลอดภัยแก่เจ้าของบัญชี  

นายปิยพจน์ เกษมภักดีพงษ์ ผู้บริหาร บริษัท ออนเนียนแชค จำกัด ผู้พัฒนา platform AI ใช้กับ Face Recognition  ChatBot หรือ Voice command เปิดเผยถึงทิศทางเทคโนโลยี “จดจำใบหน้า” (Face Recognition) ปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ด้วยการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence หรือ AI โดยเฉพาะระบบรักษาความปลอดภัย และ เทคโนโลยีทางการเงิน โดยเทคโนโลยี Face Recognition จะบันทึกใบหน้าที่ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูล Bigdata โดยใช้ Algorithm ในการวิเคราะห์จากองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่บนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็น คิ้ว ตา ปาก จมูก ริมฝีปาก รอยแผลเป็น เป็นต้น เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบุตัวตนและยืนยันอัตลักษณ์บุคคลด้วยความรวดเร็ว และ แม่นยำ 

สำหรับระบบรักษาความปลอดภัยที่ภาคธุรกิจนิยมนำเข้ามาใช้ เน้นการตรวจสอบการเข้า – ออก  เพื่อบันทึกพฤติกรรมลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ จำนวนลูกค้าเข้า – ออก ระยะเวลาที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปต่อยอดทางธุรกิจเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคต่อไป สำหรับเทคโนโลยีทางการเงิน จะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องการโอนเงินระหว่างบัญชีส่วนบุคคล เหมือนกับการใช้ รหัส Password ซึ่งปัจจุบันเท่าที่ทราบมี 2 ธนาคารขนาดใหญ่ที่เริ่มนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ควบคู่กับการใช้ รหัสผ่าน เพื่อความแม่นยำ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องระหว่างการโอนเงินจากบัญชีส่วนบุคคล 

อย่างไรก็ตามทิศทางในอนาคต เทคโนโลยีจดจำใบหน้า อาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการทางการเงินยุคใหม่ ในการแสดงตัวตนด้วย ใบหน้า เข้ามาใช้ในธุรกิจการเงินและการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในส่วนภาครัฐเทคโนโลยีอาจยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเทคโนโลยีจดจำใบหน้าต้นทุนสูง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Bigdata และ จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายความเป็นสิทธิส่วนบุคคลด้วย เพราะจำเป็นต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดเป็นจำนวนมากในพื้นที่สาธารณะ หรือ พื้นที่ส่วนบุคคล ขณะที่ระบบรักษาความปลอดภัยในประเทศไทยยังเป็นระบบภาพถ่าย หรือ ภาพนิ่ง ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ขั้นสูง และ หากจะนำเข้ามาใช้อย่างเป็นระบบอาจต้องแก้ไขกฎหมายด้วยหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีจดจำใบหน้ายังมีข้อถกเถียงเรื่องสิทธิส่วนบุคคล เช่น ประเทศจีน ประเทศที่การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าล้ำหน้าที่สุด แต่ประชาชนบางส่วนยังไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในสอดส่องพฤติกรรมประชาชนในพื้นที่ส่วนบุคคล