ยกเครื่องนวัตกรรมโดรนเชิงพาณิชย์

1 September 2020 Technology

CAAT เตรียมพัฒนาโดรนให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ ยกเครื่องสถาบันการบินเทียบชั้นสากล มาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าเครื่องบินใหญ่ 

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT เปิดเผยว่าการบินโดรนเริ่มแพร่หลายสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมามีการยื่นขอใบอนุญาตการบินหรือใบอนุญาตบังคับโดรนนับหมื่นราย ทั้งเพื่อการถ่ายภาพ การเกษตร การสำรวจเส้นทางรถไฟและการสำรวจสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 

ขณะเดียวกันการใช้โดรนเพื่อบริการเชิงพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ CAAT ต้องการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินโดรนให้เป็นมาตรฐานสากลที่ไม่ต่างจากเครื่องบินขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของการลงทะเบียน การออกใบอนุญาตบังคับโดรนหรือขอบเขตพื้นที่การบินและหลักเกณฑ์ความปลอดภัยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับทราบและปฎิบัติตาม

ทั้งนี้ใบอนุญาตการบังคับโดรนนั้นจะระบุขอบเขตของการใช้งาน จำนวนโดรนที่มีสิทธิ์การใช้จากการระบุหมายเลขเครื่องโดรนที่ได้มีการจดทะเบียนไว้และการประกันภัยโดรนเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพื้นที่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ารับใบอนุญาตบังคับโดรนนับหมื่นรายทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชนและบุคคลธรรม 

ขณะเดียวกันข้อกำหนดของการบังคับใช้โดรนยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้านทำให้ไม่สามารถบินโดรนเช่นเดียวกับการขับขี่รถยนต์บนท้องถนนได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีแนวคิดในการนำโดรนเข้ามาพัฒนาการขนส่งพัสดุ หรือแม้กระทั่งการใช้โดรนเพื่อเป็นแท็กซี่ขนส่งบุคคลก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องพิจารณาด้านความปลอดภัยและส่วนที่เกี่ยวข้องอีกหลายด้าน

ในอนาคตจะมีโรงเรียนสอนการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของ CAAT เพื่อให้ใบอนุญาตนักบินโดรนเป็นเสมือนใบเบิกทางให้กับอุตสาหกรรมการบินโดรนสามารถพัฒนาและต่อยอดไปสู่การบินโดรนที่จะให้บริการเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางสำนักงานจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI ในการพิจารณาหลักสูตรและออกใบอนุญาตให้กับโรงเรียนสอนการบินโดรน และพัฒนาต้นแบบสถาบันการฝึกอบรมบินโดรนให้เกิดเป็นมาตรฐานสากลที่ดีต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่โครงการวังจันทร์วัลเล่ย์ พัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (UAV Regulatory Sandbox) เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้สนใจ ผู้ผลิต นักลงทุน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องได้ทดสอบ ทดลอง เพื่อการวิจัยและพัฒนาธุรกิจอากาศยานไร้คนขับ