อีลอน มัสก์ชี้ DeepMind คือสิ่งน่ากังวลสูงสุดเมื่อเข้าสู่ขั้น AI

13 August 2020 Technology

อีลอน มัสก์ เชื่อว่าแลปวิจัย DeepMind คือข้อกังวลอันดับแรกเกี่ยวกับเรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ

ทั้งนี้  DeepMind ถูกซื้อกิจการโดยกูเกิลในปี 2014 ด้วยมูลค่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ แลปวิจัยซึ่งบริหารโดยเดมิส ฮาสซาบิส เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการพัฒนาระบบเอไอที่สามารถเล่นเกมได้ดีกว่ามนุษย์คนใด

“เพียงเอไอที่พวกเขากำลังสร้างก็เอาชนะคนได้ทุกเกมแล้ว คือผมหมายความว่านั่นคือพล็อตไลน์ในเกมสงครามต่าง ๆ ” มัสก์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์คไทม์ส อย่างไรก็ตาม DeepMind ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้

ทั้งนี้ มัสก์ได้ออกมาเตือนบ่อยครั้งว่าเอไอจะมีความฉลาดเท่ามนุษย์และบอกว่าถ้าเอไอทำได้เท่ามนุษย์ เราทุกคนควรจะต้องกลัวเพราะการดำรงอยู่ของมนุษยชาติจะอยู่ในจุดที่เสี่ยง

มัสก์ผู้ที่สร้างกำไรจากการลงทุนในระยะแรกๆ ใน DeepMind เปิดเผยกับนิวยอร์คไทม์สว่าประสบการณ์การทำงานกับเอไอที่เทสล่าของเขาทำให้เขามั่นใจว่า “เรากำลังมุ่งไปสู่สถานการณ์ที่เอไอจะฉลาดล้ำกว่ามนุษย์มาก” เขาบอกว่าเขาเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะใช้เวลาไม่เกินห้าปี “นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งอย่างจะแย่ภายในห้าปี แต่หมายถึงว่าสถานการณ์จะมีความไม่แน่นอนหรือมีความแปลกประหลาดขึ้น ”

หนึ่งปีหลังจากที่กูเกิลซื้อกิจการ DeepMind มัสก์ได้ร่วมก่อตั้งแลปวิจัย OpenAI ในซานฟรานซิสโกในปี 2015 ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไมโครซอฟต์ก็ได้ร่วมลงทุนด้วย โดย OpenAI กล่าวว่าภาระกิจของตนคือสร้างความแน่ใจว่าเอไอสร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งปวง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 มัสก์ได้ออกจากการเป็นกรรมการบริหารของ OpenAI แต่เขายังคงบริจาคเงินและเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กร

ทั้งนี้ มัสก์ได้ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับเอไอมานับปีและเกี่ยวกับทัศนะของเขาที่มองต่างจากนักวิจัยเอไอที่ทำงานในภาคสนาม ในเดือนพฤษภาคม สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่าความสัมพันธ์ของมัสก์กับแวดวงเอไอค่อนข้างซับซ้อน

“คนส่วนใหญ่ในแวดวงเอไอคิดว่าเขามีทัศนะเบี่ยงเบนในเชิงลบ” ผู้บริหารด้านเอไอผู้ใกล้ชิดแวดวงรายหนึ่งกล่าว ซึ่งขอไม่เอ่ยนามเพราะบริษัทอาจจะต้องทำงานร่วมกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งของมัสก์

ซูเปอร์อัจฉริยะเอไอ

ว่ากันว่าการสร้างเครื่องจักรให้ชาญฉลาดเท่ามนุษย์นั้นนับเป็นจอกศักดิ์สิทธิ์แห่งเอไอ แต่บางคนซึ่งรวมทั้งมัสก์ก็กังวลว่าเครื่องจักรนั้นจะฉลาดล้ำเร็วกว่ามนุษย์เมื่อพัฒนาถึงระดับขั้นเดียวกับมนุษย์ 

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โยชัวร์ เบนจิโอ ผู้คว่ำหวอดเทคโนโลยีเอไอกล่าวกับบีบีซีว่า “พวกเรายังห่างไกลจากระบบ super-intelligent AI และยังมีอุปสรรคพื้นฐานอีกมากมายที่จะพัฒนาให้มีความฉลาดมากกว่ามนุษย์”

ในงานประชุม Beneficial AI ปี  2017 มัสก์และฮาสซาบิสร่วมเสวนากับนิค บอสตรอม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดและผู้เขียนหนังสือ Superintelligence แจน ทอลลินน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Skype เรย์ เคอรซวีล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของกูเกิล สเตาร์ท รัสเซล นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มหาวิทลัยเบอร์กเลย์ และอีกหลายท่าน

ในช่วงเริ่มต้นของการเสวนา ในหัวข้อ “Superintelligence: วิทยาศาสตร์หรือนวนิยาย?” ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าบางส่วนของ superintelligence นั้นเป็นไปได้ ยกเว้นมัสก์ ซึ่งเขากล่าวเชิงล้อเล่น โดยถามคำถามว่าแล้วมันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ ทุกคนตอบว่า “ได้” และเมื่อถามว่าพวกเขาต้องการให้ superintelligence เกิดขึ้นหรือไม่ ฮาสซาบิสตอบว่า “ใช่” ในขณะที่คนอื่นแสดงท่าทีว่า “มันซับซ้อน”

ในปี 2016 บอสตรอมกล่าวว่าเขาเชื่อว่า DeepMine จะชนะการแข่งขันเอไอทั่วโลก และเมื่อถูกถามอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้ บอสตรอมบอกกับซีเอ็นบีซีว่า “DeepMind มีนักวิจัยทีมใหญ่ระดับเวิล์ดคลาสที่ยอดเยี่ยมและหลากหลาย ซึ่งงานนี้เป็นงานช้างที่มีกลุ่มคนต่าง ๆ ที่น่าตื่นเต้น กำลังทำงานสำคัญ”

แคทธารีน เบรสลิน ที่ปรึกษาด้านเอไอ ผู้ที่เคยทำงานกับ Alexa ของแอมาซอนกล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า “การสร้างความกังวลต่อเอไอด้วยจินตนาการถึงอนาคตว่าเอไอจะมีพลานุภาพล้มล้างมนุษยชาติทั้งปวงเป็นไอเดียที่แพร่หลาย แต่การคาดการณ์อนาคตด้วยมโนนั้นเบี่ยงเบนจากสิ่งที่เทคโนโลยีได้ถูกใช้ในปัจจุบัน เอไอได้ทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์บางอย่างในช่วงปีที่ผ่านมา”