จุฬาฯ ทุ่มสร้างย่านนวัตกรรม “Block 28” ปั้นสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่

27 July 2020 Startups

จุฬาฯ ทุ่มทุนสร้างระบบนิเวศย่านนวัตกรรม เปิด Block 28 ชวนสุดยอดสตาร์ทอัพ DeepTech จากทุกคณะมาเปิดบริษัท ดึง Tuspark เปิดโชว์รูมแสดงนวัตกรรมดิจิทัลจีนสุดล้ำ ผนึกเอกชนThaiBev และ Kbank อัดฉีดทุน

ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรม (CU Innovation Hub) ในฐานะผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ในการนำจุฬาลงกรณ์ฯไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งศตวรรตที่ 21 ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ 1.Entrepreneur University สร้างผู้ประกอบการเริ่มต้นและบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2.Research to Commercial นำงานวิจัยและพัฒนาของนิสิตนักศึกษาหรือคณาจารย์ได้คิดค้นขึ้นไปสู่การประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และ 3.Community Development สร้างระบบนิเวศพื้นที่โดยรอบสวนหลวง – สามย่าน และถนนพระราม 4 ให้เป็นย่านนวัตกรรมทันสมัยรองรับการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพที่จุฬาฯ ผลิตขึ้น พร้อมกับประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนร่วมสนับสนุนทุน และดึงความร่วมมือระหว่างต่างประเทศเข้ามาลงทุนหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกัน

ดร.ศันธยา กล่าวว่าสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ได้สร้างย่านนวัตกรรมใจกลางเมือง ชื่อ “Block 28 Co-Creative” เป็นโครงการอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น จำนวน 5 อาคาร มีพื้นที่รวม 15,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับให้นักธุรกิจสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ สาย DeepTech ศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่ประสบความสำเร็จและต้องการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพเข้ามาเช่าพื้นที่เปิดสำนักงาน พร้อมกับส่งเสริมให้ Block 28 เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยของบรรดาสตาร์ทอัพได้แสดงผลงานและความสามารถ

โดยจุฬาฯ ยังได้มีความร่วมมือกับ Tuspark หรือ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tsinghua ประเทศจีน ตกลงเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อตั้งศูนย์การแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนขึ้นในประเทศไทยเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกัน

ทั้งนี้ Block 28 จะเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพหน้าใหม่ โดยมี CU Innovation Hub ให้คำปรึกษาและเปิดพื้นที่แห่งโอกาสโดยจะรวบรวมบริษัท Startup จากนิสิตนักศึกษาจุฬาฯ ที่สามารถ Spin off เป็นบริษัทจากผลงานวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม หรือ เทคโนโลยีที่ตัวเองคิดค้นขึ้นและมีความเป็นไปได้สูงทางธุรกิจ อาทิ บริษัท Spin off ภายในคณะเภสัชศาสตร์ เช่น Meticuly สตาร์ทอัพที่สามารถสร้างกระดูกเทียมด้วยแร่ไททาเนียม  JuiceInnov8 สตาร์ทอัพสายสุขภาพที่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในผลไม้ให้มีปริมาณแคลอรี่ต่ำส่งผลดีต่อสุขภาพ  BAIYA phytopharm สตาร์ทอัพที่กำลังคิดค้นวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันไวรัส Covid-19 หรือ NABSOLUTE  สตาร์ทอัพที่สามารถผลิตสเปรย์ทำความสะอาดหน้ากากอนามัยสุดไฮเทคฯ และยังไอเดียสตาร์ทอัพดีๆ จากคณะอื่นตามมาอีกมากมาย อาทิ คณะแพทยศาสตร์  คณะสัตวศาสตร์ หรือ คณะทันตแพทย์ ฯลฯ

CU Innovation Hub ยังเป็นพื้นที่บ่มเพาะและแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากไอเดียสตาร์ทอัพนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เกษตรแนวดิ่ง หรือ Vertical Farm โดย noBitter สตาร์ทอัพสายเกษตรนวัตกรรม ที่ได้รับการบ่มเพาะจาก CU Innovation Hub ให้ความรู้การปลูกผักในเมืองไว้รับประทาน

นอกจากนี้พื้นที่ Siam Innovation District ต้องการเพิ่มพื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพและต้องการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้พื้นที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เป็นศูนย์กลางให้ผู้สนับสนุนจากภาคเอกชนเข้ามาลงทุน เนื่องจากปัจจุบันจุฬาฯ ได้จัดตั้ง CU Enterprise บริษัทลูก หรือ Holding company ของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีเอกชน 3 รายใหญ่ให้การสนับสนุน คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด  ธนาคารกสิกรไทย  และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะเข้ามาลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ Siam Innovation District พร้อมกับเป็นสถานที่จัดการบรรยาย กิจกรรม นิทรรศการและสถานที่จัดแสดงตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย มีฐานข้อมูลด้านนวัตกรรม และ co-working space รวมถึงในอนาคตจะมีโครงการ Pitching Startup เพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่ โดยเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมแข่งขันไม่จำกัดเฉพาะสตาร์ทอัพในรั้วจุฬาฯ เท่านั้น รวมถึงได้จัดทำหลักสูตรระหว่างประเทศ Bachelor of Arts and Science in Integrated Innovation (BAScii) ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ออกมาแล้ว 2 รุ่น ซึ่งเป็นหลักสูตรเพื่อสร้างสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่เพื่อมาตอบโจทย์ในการนำงานวิจัยและพัฒนาที่อยู่ในสถาบันการศึกษาไปใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ พร้อมกับสามารถประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาผสมผสานเพื่อนำไปสู่การประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพได้จริงจนประสบความสำเร็จในอนาคต