ทีเซลดัน Life Science สตาร์ทอัพ รับกระแสเฮลธ์แคร์โต

21 July 2020 Technology

ทีเซล (TCELS) ปั้น ไลฟ์ไซน์สตาร์ทอัพ รับกระแสเฮลธ์แคร์เฟื่องจากผลพวง Covid-19 สานความร่วมอย. หน่วยงานวิจัย พร้อมแหล่งทุน ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือทีเซล กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล่าถึงการสานต่อการสร้างสตาร์ทอัพ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือ Life Science ตลอดสามปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างอุตสาหกรรมธุรกิจใหม่ ผ่านการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ตลาดทุน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย

โครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” เป็นกลไกที่สำคัญต่อการส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพและนักวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ โดยปีนี้มี 27 ทีม ซึ่งคัดมาจากผู้สมัครทั้งหมด 40 ทีม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการหรือนักวิจัยที่มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 1 ปี

โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพให้กับทั้งกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นไบโอเทค ฟาร์มาซูติคอล เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) การวินิจฉัยโรค (Diagnostics) เครื่องสำอาง-อาหารเสริม และ Digital Health IT  ควบคู่ไปกับการเสริมความรู้และทักษะประกอบธุรกิจด้านการตลาดและด้านกฎหมายเฉพาะ

หลังการฝึกอบรมถึงเดือนสิงหาคมจะมีการจัดประกวดแผนธุรกิจในงาน “Demo Day: Life Sci. Level Up Challenge 2020” ช่วงกลางเดือนกันยายนปีนี้ โดย 5 ทีมสุดท้ายจะมีโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาทและพบกับเครือข่ายนักลงทุน

ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์กรมหาชน) เล่าถึงแนวโน้มการแพทย์และสาธารณสุขว่า จะครอบคลุมการส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู  ทั้งจะเติบโตไปในหมวดเซลล์ต้นกำเนิด อวัยวะเทียมสังเคราะห์ (Organ Synthesis) การติดตามสุขภาพและอุตสาหกรรมบริการการแพทย์ส่วนบุคคล ส่วนของไทยนั้นคงต้องเลือกโฟกัสให้มาก โดยเฉพาะอาจนำวิทยาศาสตร์ข้อมูล ด้านไอที และเอไอ มาต่อยอด กับวิทยาศาสตร์สุขภาพ การทำยาเฉพาะส่วนบุคคล (Personal Medicine)

ข้อมูลสามหมวดที่จะนำมาใช้วิเคราะห์ เพื่อทำยาเฉพาะส่วนบุคคลนั้นมีทั้งพันธุกรรม พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ ที่เราสามารถนำวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อกำหนดอาหารและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพได้โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่  เช่น การกินอาหารตามยีนส์พันธุกรรม

พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย ผู้อำนวยการงานส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนและวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นถึงนิเวศน์สตาร์ทอัพไทยว่าปัจจุบันมีจำนวนสตาร์ทอัพมากกว่า 1,700 บริษัท มีกลุ่มทุนร่วมลงทุน 50 กลุ่ม และแองเจิลอินเวสเตอร์ 400 ราย มีทุนให้เปล่ามากกว่า 8,000 ล้านบาท เงินทุนกู้ยืม 60,000 ล้านบาท และมีสตาร์ทอัพได้รับลงทุนไปแล้วกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนของตลท เอง มี  เวบไซต์ www.live-platforms.com ที่เบื้องต้นเริ่มให้บริการ ‘Education Platform’ แหล่งความรู้ให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ระยะต่อไปจะเป็นช่องทางการระดมทุนผ่านการกระจายหุ้นในตลาดแรก และการซื้อขายในตลาดรองให้กับทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ

ธุรกิจสุขภาพ เป็นจุดแข็งของไทย ที่หากนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาวิเคราะห์ข้อมูล การทำบริการทางการแพทย์เฉพาะส่วนบุคคล (Personalized Healthcare) และการรองรับสังคมผู้สูงอายุในด้านการเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้นโอกาสของธุรกิจจึงไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ดีฟเทค อาจเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ และการประสบความสำเร็จที่ไม่จำเป็นต้องระดมทุนในตลาด แต่เป็นการขายกิจการหากมีบริษัทใหญ่มาเทคโวเวอร์

เภสัชกรหญิง วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. เสริมว่า ปัจจุบัน หน่วยงานได้เพิ่มหน่วยงานใหม่ในการ “ให้คำปรึกษา” ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาได้เข้ามาปรึกษาระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่จะช่วยให้สอดคล้องกับการกำกับดูแล ลดความเสี่ยง และลดการเสียเวลากลับไปเริ่มต้นใหม่

หลายๆ ผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องใหม่มากและยากที่จะจำแนกหมวด จนอาจทำให้เกิดความสับสนและผิดพลาด เช่น การใช้ไมโครออแกนิซึ่มมาทำโปรไบโอติกส์ซึ่งยากที่จะแยกแยะว่าเป็นอาหารหรือยา เป็นต้น