Fixzy สตาร์ทอัพสารพัดช่างกับ “กล้าที่ต้องก้าว”

2 July 2020 Startups

หนึ่งในสตาร์ทอัพยุคร่วมบุกเบิกสตาร์ทอัพไทย คือ ฟิกซิ (Fixzy) แอปรวมช่างทุกงานซ่อมและบำรุงรักษาเกี่ยวกับบ้านตั้งแต่หลังคาจนถึงใต้ดิน ผู้คว้ารางวัลจากเวทีต่างประเทศ เช่น CBC Copenhagen 2018 เดนมาร์คและ ASEAN Rice Bowl Startup Awards 2019 สาขา Best Life Helper ในมาเลเซีย และล่าสุด คว้ารางวัลชนะเลิศ ASEAN ICT Award 2019 ประเทศเวียดนาม 

รัชวุฒิ พิชยาพันธ์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Fixzy จำกัด เล่าผ่าน Startup Thailand League Ep.2 ว่า Fixzy เป็นสตาร์ทอัพที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการผันตัวจากมนุษย์เงินเดือนสู่บริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์

ช่วงปี 2014 กระแสสตาร์ทอัพเริ่มมาและเขาก็บังเอิญได้พบ “Pain Point” หาช่างมาซ่อมท่อน้ำตันไม่ได้ ต้องไปหาเบอร์ช่างที่มักติดประกาศตามเสาไฟฟ้า แต่ช่างปฎิเสธ จึงตัดสินใจนำเงินทุนจากธุรกิจซอฟต์แวร์เฮ้าส์ มาเริ่มต้นกิจการ ทุนประเดิม 1 ล้านบาท ร่วมกับเพื่อนๆ ผู้ก่อตั้งรวม 3 คนใช้เวลา 6 เดือนเงินทุนเริ่มหมด หลายอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งการมีค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง

“เราคาดการณ์ความต้องการลูกค้าผิดจากที่มองว่าเขาหาช่างไม่ได้ แต่ที่จริงแล้ว ลูกค้าต้องการช่างคุณภาพ”

Fixzy จึงมาตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าที่เราได้พบภายหลัง โดยมีระบบตรวจสอบอาชญากรรมและมีเรทติ้ง รีวิวของลูกค้า เพื่อคัดคุณภาพช่างที่อยู่ในแพลทฟอร์ม ทั้งยังปรับบิสเนสโมเดลที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เช่น ช่างไทยที่จะอาจต้องเปิดบิลไป ไม่ใช่การคัดลอกรูปแบบในต่างประเทศที่จะให้ช่างซื้อเครดิตเข้ามาในระบบก่อน

Fixzy ยังมีระบบให้ลูกค้าเลือกช่างและราคาที่ต้องการได้ และคิดค่าคอมมิชชั่นต่ำสุดตั้งแต่ 5-30% ขึ้นกับโครงการและหาแหล่งรายได้อื่นเพื่อชดเชยกับค่าคอมมิชชั่นต่ำ ทั้งการทำสปอนเซอร์ชิป การฝึกอบรมและหากเราคิดค่าคอมมิชชั่นสูง ช่างจะอยู่ยากและต้องบวกราคาหน้างานกับลูกค้าเพิ่ม  

รัชวุฒิ มองว่า สตาร์ทอัพต้องเชื่อและศรัทธาในไอเดียผลิตภัณฑ์ บริการ รูปแบบธุรกิจและทีมงานของตนก่อน ที่สำคัญ ต้องพิสูจน์ความเชื่อนั้น ทั้งการลงพื้นที่สำรวจความต้องการจากกลุ่มเป้าหมายโดยใช้ความจริงใจและชุดคำถามที่ไม่ได้ “ขายของ” แต่ให้เล่าถึงปัญหาการใช้ชีวิต ทดสอบตลาด และสัมภาษณ์ซึ่งอาจทำตามสวนสาธารณะในเวลาที่เป้าหมายสะดวก ไม่ใช่สัมภาษณ์ตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือรถไฟฟ้าที่อาจกำลังเร่งรีบ

เขายังก้าวผ่านจากโปรแกรมเมอร์ที่ไม่ชอบพูดและไม่มั่นใจในภาษาอังกฤษของตนเองเป็นคนที่กล้าพูดมากขึ้นเพราะต้องการไปเวทีต่างประเทศซึ่งต้องมีการ Pitch ที่ต้องตอบคำถามกรรมการด้วยความเข้าใจธุรกิจที่ชัดเจน ทำให้เขาต้องซักซ้อมจนพูดได้มั่นใจมากขึ้น

ด้วยวัยมากกว่าสามสิบและพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง รัชวุฒิย้ำว่าคนเราสามารถเรียนรู้ได้  หากกล้าที่จะลอง ไม่ต่อต้านภาษา ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ และหากมีความเชี่ยวชาญและกล้าที่จะแตกต่าง โอกาสความสำเร็จก็เกิดได้เร็วขึ้น

นอกจากนั้น สถิติส่วนใหญ่พบว่า สตาร์ทอัพได้กลุ่ม Early Stage ในต่างประเทศ ที่จะประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ผู้ก่อตั้งอยู่ในวัย 35 และนักลงทุนจะมองหาทีมที่เก่งและแข็งแกร่ง เนื่องจากส่วนใหญ่ 70% ทีมแตก ทำให้ธุรกิจไม่ได้ไปต่อ 

ในระหว่างทางการทำธุรกิจ Fixzy มีบททดสอบเข้ามาตลอดเวลา ใช้เวลา 8 เดือนสร้างต้นแบบใหม่ หลังจากหา Pain Point ที่แท้จริงได้ในเดือนที่ 7 ของธุรกิจและได้ Angel Investor และ Corporate เข้าร่วมลงทุน จำนวนเงินเกือบ 5 ล้านบาท 

หลังตั้งธุรกิจมาได้ 20 เดือน ผ่านเวทีประกวดมามากมายแต่ก็ไม่เคยใช้รางวัลใหญ่สูงสุดและพบว่า Fixzy ยังตอบ Pain Point ไม่ “คมพอ” และที่สุดก็พบว่า การหาพันธมิตร ขยายอีโคซิสเต็ม ทั้งร้านค้าวัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้บริษัท “คมขึ้น”

สำหรับรัชวุฒิ การผ่านเวทีประกวดเป็นการพิสูจน์” ความเชื่อ” ของธุรกิจและนำฟีดแบ็คจากกรรมการมาปรับปรุง ทั้งช่วยเปิดโอกาสให้ขยายพันธมิตรธุรกิจและนักลงทุน ที่มาติดต่อ”หลังไมค์”  

การ Pitch อาจเป็นดาบสองคม การสร้างแรงบันดาลใจและได้รับฟีดแบ็คที่แท้จริง ที่จะทดสอบความเชื่อในสิ่งที่ทำ อย่ามองว่าเป็นความล้มเหลวหากไม่ได้รางวัล แต่เป็นการระดมไอเดียที่จะดีกว่าคิดหรือทำเพียงภายในบริษัทกันเอง

การจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ปีแรกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมีสตาร์ทอัพร่วมงานมากกว่า 400 บูธ ผู้เข้าชมนับหมื่น Fixzy ก็สามารถปิดดีลนักลงทุนภายในวันเดียว

วิกฤต Covid-19 ส่งผลกระทบหนักต่อบริษัท ทำให้รายได้ลดลง 3-4 เท่า จากที่ถึงจุดเริ่มทุนเริ่มทำกำไร ก็กลับมาขาดทุน ซึ่งแม้จะเสียกำลังใจและถึงขั้นคิดปิดธุรกิจ แต่เมื่อยังได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรและลูกค้า Fixzy จึงใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ปรับธุรกิจ “หาปัญหาใหม่จากวิกฤตเพื่อสร้างโอกาส” 

เร็วๆนี้ Fixzy จะทำให้แพลทฟอร์มเพิ่มความชาญฉลาดยิ่งขึ้น เช่น การจัดเส้นทางการรับงานให้ช่างรับงานได้มากขึ้นต่อวัน การให้ช่างทำระบบรีพอร์ทให้ลูกค้า สร้างสถานะว่าช่างอยู่จุดใดและทำไมถึงมาล่าช้า นอกจากนั้นจะเข้าสู่การเป็น “อีมาร์เก็ตเพลส” เรื่องบ้าน