เปิด 7 แนวโน้มตัวเร่ง “เกษตรนวัตกรรม” ดันอนาคต “AgTech” เติบโตแบบก้าวกระโดด

23 June 2020 Startups

เอ็นไอเอ ผนึก 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำ พร้อมระดมสมองไอคิวระดับกูรูวงการเกษตร ศึกษา 7 แนวโน้มอนาคตการเกษตรไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต จากหน้าฟาร์มถึงมือผู้บริโภค เพื่อนำไปสร้างอาชีพใหม่และต่อยอดภูมิปัญญาเดิมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงลึก โดยมีสตาร์ทอัพไทย เป็นหัวหอกนำการเปลี่ยนแปลง ยกระดับเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรนวัตกรรม พร้อมส่องดูกรณีศึกษาสตาร์ทอัพต่างชาติระดับ “ยูนิคอร์น” มาเป็นไกด์ไลน์และหนุนสตาร์ทอัพไทย ที่ไอเดียสุดเจ๋ง ทำธุรกิจเกษตรไฮเทคประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบผลักดันภาคเกษตรไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด   

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายในวงการด้านการเกษตร จัดทำ “แนวโน้มด้านนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศไทยใน 7 สาขา” ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตจากฟาร์มถึงผู้บริโภค เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการสร้างอาชีพใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การทำเกษตรด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ แนวทางในการทำวิจัย ตลอดจนกำหนดนโยบายนวัตกรรมการเกษตรในระยะต่อไป เพื่อตอบโจทย์กับกลุ่มคนที่จะเข้าสู่วงการเกษตรและต้องการยกระดับการเกษตรของไทยไปพร้อมกัน ด้วยการสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเกษตร ที่มุ่งใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ด้วยการแก้ไขปัญหาด้วยแนวคิดจนเกิดรูปแบบธุรกิจแนวทางใหม่และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อเปลี่ยนวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ให้เป็นตัวเร่งสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ให้ทางการเกษตร เพื่อจะได้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

สำหรับแนวโน้มด้านนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศไทยใน 7 สาขา ดังนี้

1.เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพมาประยุกต์ให้เกิดธุรกิจและแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการอาหารปลอดภัย ประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุน ตัวอย่าง สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ระดับยูนิคอร์นของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ “อินดิโก” ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้กลุ่มจุลินทรีย์จากดิน กระตุ้นให้พืชทนต่อสภาวะแล้งได้ ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้

2.เกษตรดิจิทัล เพื่อช่วยสนับสนุนการทำการเกษตร เช่น เซนเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI บล็อกเชน ฯลฯ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ เช่น “บลูรีเวอร์” สตาร์ทอัพของสหรัฐอเมริกา ที่นำเอไอมาแยกความแตกต่างวัชพืชในแปลงเกษตร ทำให้สามารถกำจัดได้ตรงจุดและถูกต้อง สำหรับสตาร์ทอัพไทย “ฟาร์มเอไอ” นำข้อมูลการเกษตรใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพอากาศ ร่วมกับข้อมูลจากแปลง ลดการเสี่ยงต่อโรคเพื่อให้ผลผลิตที่สูงขึ้น

3.การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน ตัวอย่างสตาร์ทอัพ “วังรีเฟรช แพลนท์แฟคทอรี่” กำลังก่อสร้างโรงงานปลูกพืชชื่อว่า สยามปันสุขแพลนท์แฟคทอรี่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ขนาดกำลังผลิตเดือนละ 18 ตัน จะเริ่มดำเนินงานปลายปีนี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีเพิ่มเติมนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชให้เกิดการผลิตสารสำคัญอย่างในสมุนไพรหรือกัญชาที่เริ่มมีการศึกษาวิจัยกันในหลายมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการพัฒนาฟาร์มในเขตเมืองที่ล่าสุดอย่างเพื่อนบ้านสิงคโปร์ก็ประกาศนโยบายสนับสนุนการปลูกผักบนดาดฟ้า อีกแนวโน้มในระบบการเลี้ยง “ฟาร์มเลี้ยงแมลงแบบปิด” อย่าง YNsec สตาร์ทอัพชาวฝรั่งเศสที่มีระบบการเลี้ยงแมลงขนาดใหญ่ด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชม. ด้วยกำลังผลิต 20,000 – 25,000 ตันต่อปี

4.เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อดึงดูดให้คนหันมาทำการเกษตรด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดแรงงาน ตัวอย่างสตาร์ทอัพของอิสราเอล “อารักกา” ได้เปิดตัวหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ใช้ในการผสมเกสรในโรงเรือน โดยมี AI ที่จะบอกได้ว่าดอกไม้มีความพร้อมสำหรับการผสมเกสรดอกไม้เมื่ออุณหภูมิและระดับความชื้นเหมาะสม สำหรับประเทศไทยประยุกต์ใช้ “โดรน” เช่น สตาร์ทอัพ “เทวดา คอร์ป” นำโดรนไปใช้ในการปลูกข้าวได้อย่างแม่นยำสามารถเพิ่มผลลิตได้ถึงสองเท่า

5.บริการทางธุรกิจเกษตร จำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์ทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซและระบบขนส่งอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและช่วยในการส่งสินค้าอาหาร-เกษตรแบบเร่งด่วน อย่าง “มิสเฟรชอีคอมเมิร์ซ” และ “ยิเกา”  สตาร์ทอัพจากจีนได้รับเงินลงทุนรวมกันเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในไทยมีการพัฒนาด้านบริการเกษตรหลายรูปแบบ เช่น ระบบการจองอุปกรณ์การเกษตรของไทยอย่าง “ตลาดแอป” ที่คล้ายคลึงกับการจองรถเพื่อการเดินทางที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

6.การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เนื่องจากสินค้าเกษตรไทยเน่าเสียง่ายและเก็บรักษายากจึงควรหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่นสตาร์ทอัพ “เพียวเฟรช” สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกา ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศด้วยโอโซนสามารถเปลี่ยนการขนส่งผลไม้เปลือกบางอย่างเช่นกลุ่มเบอรี่ มาขนส่งผ่านทางเรือแทนเครื่องบินได้ ซึ่งสตาร์ทอัพไทยก็เริ่มมีทำด้านนี้กันบ้างแล้วอย่าง “อีเดน” ที่มีการใช้สารเคลือบผิวเพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรได้นานขึ้น

และ 7.ธุรกิจไบโอรีไฟนารี การแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์หรืออื่นๆ ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น “มายโคเวิร์ค” สตาร์ทอัพชาวอเมริกา ที่ผลิตหนังจากการเพาะเลี้ยงด้วยเชื้อจุลินทรีย์ไมซีเลียมกับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรสำหรับทดแทนการใช้พลาสติกและหนังแท้จากสิ่งมีชีวิต โดยสตาร์ทอัพไทยอย่าง “ไบโอไดเวอร์ซิตี้” นำน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือที่มีโอเมก้าและกรดลอริกปริมาณสูงสำหรับนำไปใช้ในเครื่องสำอางและการนำเศษที่เหลือหลังการบีบน้ำมันเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับอาหารสัตว์