“Crowdfunding” ต่อลมหายใจสตาร์ทอัพ ฝ่ามรสุม Covid-19

1 May 2020 Startups

ก.ล.ต. แนะสตาร์ทอัพเอสเอ็มอี ระดมทุนผ่าน “Crowdfunding” ชี้ประวัติโปร่งใส แผนธุรกิจแน่น ไอเดียเฉียบ ได้รับเงินทุนแน่นอน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ Power of the crowd: ฝ่าวิกฤต Covid-19 ด้วย Crowdfunding เพื่อให้ความรู้ในการเข้าถึงแหล่งทุนแก่สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่กำลังมองหาช่องทางระดมทุน และสนับสนุนให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องผ่านพ้นช่วงวิกฤติ Covid-19 โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นตรงกันว่า การระดมทุนด้วย “Crowdfunding” มีทิศทางที่สดใสสามารถเป็นช่องทางใหม่ด้านการระดมทุนให้กับสตาร์ทอัพ หรือเอสเอ็มอี ฝ่าวิกฤติ Covid-19 ได้

ดร.นเรศ ดำรงชัย  ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ องค์การมหาชน (TCELS) กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ Crowdfunding เติบโตและได้รับการยอมรับในวงกว้างทางก.ล.ต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะระบบหรือโครงสร้างการเงินดิจิทัลในการให้บริการการระดมทุน ต้องสะดวกรวดเร็วและราบรื่น สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ต้องมีโครงการ หรือกิจการที่มีความน่าเชื่อถือ ธุรกิจต้องตอบโจทย์ในเชิงสังคมหรือเชิงธุรกิจ มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เป็นโครงการที่ดีมีมาตรฐานที่ผ่านการพิสูจน์หรือทดสอบเป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างโครงการของ TCELS ที่ระดมทุนการช่วยเหลือจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ขาดแคลนในช่วงสถานการณ์ Covid-19  ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรทางการแพทย์ผ่านการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานจึงทำให้การจัดทำโซเซียลแคมเปญประสบความสำเร็จ ประชาชนทั่วไปหรือนักลงทุนเข้ามาระดมทุนเป็นจำนวนมาก

วรพล พรวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเพียร์ พาวเวอร์ จำกัด ให้ความเห็นว่า Crowdfunding  เป็นช่องทางใหม่ในอนาคตการระดมทุนของสตาร์ทอัพ เพราะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสถาบันการเงินปกติ คือ Crowdfunding ไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ต้องยอมรับว่าต้นทุนทางการเงินในอัตราดอกเบี้ยย่อมแตกต่างกับสถาบันการเงินทั่วไป

อย่างไรก็ตาม “Crowdfunding” มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีหรือนักลงทุนต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจ ยิ่งอนาคตระบการเงินไทยจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบฐานข้อมูล สถาบันการเงิน เครดิตบูโร หรือฟินเทค ต้องมีความพร้อม ทางก.ล.ต. หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องสร้างระบบนิเวศน์ทั้งกฎหมาย กลไก หรือโครงสร้างการระดมทุนต้องมีเสถียรภาพและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่นักลงทุนทั้งที่เป็นสถาบันการเงินหรือรายย่อยทั่วไป

วรพล กล่าวว่า สตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ 1.ประวัติการชำระเงินโปร่งใส ทั้งต่อผู้ถือหุ้น ลูกค้า หรือซัพพลายเออร์  2.ธุรกิจมีแผนปรับตัวกับสถานการณ์ได้ดี ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารจากเดิมเคยขายแต่เฉพาะหน้าร้านเปลี่ยนมาสั่งอาหารเดลิเวอรี่ผ่านแอพพลิเคชั่น  และ 3.มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เพราะในตลาดระดมทุน มีเม็ดเงินรวมกันมากกว่า 6 ล้านล้านบาท มีตัวเลือกให้นักลงทุนเลือกระดมได้มากมาย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และ เอสเอ็มอี มีประวัติการเงินที่ดี มีการปรับโมเดลธุรกิจ และวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรที่ชัดเจนย่อมดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนได้อย่างแน่นอน

เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจ.คอม แพลตฟอร์มการระดมทุนธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า Crowdfunding ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แนวโน้มในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ระดมทุนใน Crowdfunding จะมีมากขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์ Covid-19 ที่สำคัญประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด Crowdfunding จึงเติบโตอย่างแน่นอน สิ่งสำคัญ คือ ธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องมีความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อเงินบริจาคหรือเงินระดมทุน โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานด้านสังคม และ ควรสร้างเครือข่ายการทำงานเข้ามาช่วยคัดกรองโครงการเพื่อให้สตาร์ทอัพขนาดเล็ก แต่สร้างผลลัพธ์ทางสังคมสูงควรได้รับการสนับสนุนจากการเข้าถึงแหล่งทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างการรับรู้เรื่อง Crowdfunding ให้แพร่หลายในวงกว้าง เพราะมีเป็นช่องทางใหม่ด้านการระดมทุนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต