8 เคล็ดลับ สตาร์ทอัพอยู่รอดในวิกฤต Covid-19

29 April 2020 Startups

นักลงทุนแนะเคล็ดลับและโอกาสสตาร์ทอัพอยู่อย่างไรให้รอดในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ Covid-19

สำหรับสตาร์ทอัพแล้ว วิกฤต Covid-19 นับเป็นช่วงเวลาที่สาหัสยิ่ง เพราะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปี 1982, ปี 2000 และปี 2008 แม้เงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพเหือดแห้ง แต่สตาร์ทอัพที่เก่งกาจหลายรายก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงตลาดขาลงและต่อไปนี้คือคำแนะนำจากหนึ่งในนักลงทุนผู้มีประสบการณ์ยาวนานในการเป็นผู้ลงทุนในสตาร์ทอัพหลายแห่ง

ต้องรอด

แน่นอนว่าถ้าไม่รอดก็ไม่มีประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่จะกล่าวถึงทั้งหมดจึงเกี่ยวกับการอยู่รอด เป็นเวลาที่ต้องเก็บแผนสวยหรูที่จะเป็นบริษัทยิ่งใหญ่ด้วยสินค้าสุดยอดของโลกเอาไว้ก่อน เพราะทุกสิ่งไร้ความหมายถ้าบริษัทไม่สามารถอยู่รอดได้

เงินสดสำคัญสุด

สตาร์ทอัพไม่ได้ล้มตายเพราะขาดไอเดียแต่สิ้นลมเพราะไร้เงินสด ดังนั้นต้องวางแผนรักษาเงินสด รีบทำก่อนย่อมมีผลดีกว่าลงมือช้าและต้องมีเงินสดเพียงพอสำหรับ 12 เดือนเพราะนั่นเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งถึงแม้ว่าถ้าสถานการณ์ Covid-19 จะคลี่คลายเร็วกว่านั้น ผลของความตกต่ำทางเศรษฐกิจก็จะยังมีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลต่อสตาร์ทอัพ

ลืมเรื่องระดมทุนไปได้เลย

นักลงทุนกลุ่มแองเจิล (ผู้ลงทุนที่ใช้เงินตัวเองลงทุน) จะยังคงลงทุน แต่ในขนาดที่เล็กลงและมูลค่าต่ำลงในบริษัทที่ไม่ได้ต้องการเงินสดจำนวนมาก สำหรับบริษัทปัจจุบัน ความตกต่ำฉับพลันของตลาดบวกกับการสะดุดของธุรกิจเกือบทุกภาคส่วนส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเงินลงทุน ในขณะวีซีและนักลงทุนกลุ่มแองเจิลอาจจะมีเงินสดลงทุน แต่การถอนการลงทุนจะก่อให้เกิดสภาวะถดถอยหนักลงไปอีก(ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา) เพราะนักลงทุนก็ต้องคัดสรรบริษัทที่จะลงทุนมากขึ้น

กระนั้นก็ตามบริษัทที่ดีๆ บางแห่งก็อาจไม่ได้รับเงินทุน เพราะการหยุดลงทุนอาจะเกิดต่อเนื่องไปจนหลังวิกฤต Covid-19 ยาวไปอีก 2-3 เดือนกว่าจะฟื้นและแน่นอนว่าเรื่องการรวมและซื้อกิจการ (M&A) จะไม่เกิดขึ้นหรือถ้ามีการเจรจากันไปเมื่อเดือนที่แล้วก็ให้คาดได้เลยว่าไม่มีทางเกิดขึ้นจนกว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะจบและถ้าโชคดีได้นักลงทุนแองเจิลช่วยก็เตรียมใจเรื่องที่ว่าต้นทุนที่จะสูงขึ้น และคุณเองก็ต้องมีแผนที่จะทำให้เงินนั้นอยู่ได้นานที่สุด

รายได้จำกัด

อย่าคาดหวังว่าจะสามารถเซ็นสัญญาที่ค้างไว้อยู่ได้ บริษัทใหญ่ๆ ลูกค้าภาครัฐและโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและเล็กโดยส่วนมากจะเลือกช่องทางอยู่รอด ถ้าคุณไม่ใช่ผู้ซัพพลายสินค้าหรือบริการที่สำคัญในยามยากจริงๆ ก็ควรเตรียมใจว่ารายได้จะล่าช้าไปอย่างน้อยอีก 6 เดือนหรืออาจจะนานกว่านั้นและถ้าสัญญาปัจจุบันถูกยกเลิก ก็คาดไว้ล่วงหน้าได้ว่าอาจจะกระทบกับสัญญาอื่นๆ ด้วย

โอกาส 

ถ้ามีทางที่จะขยับธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมดให้เป็นส่วนหนึ่งของการแนวทางแก้ปัญหา Covid-19 ให้ลงมือทำ บริษัทจีเอ็มเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แม้ว่ากำลังจะปิดโรงงานแต่จีเอ็มก็พร้อมปรับเปลี่ยนทันทีผลิตเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ช่วยหายใจ

ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจส่งผลต่อธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ ก็ยังมีโอกาสเปิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ทำโดยตรงกับผู้บริโภคเพราะผู้คนอยู่บ้านและใช้งานออนไลน์มากมาย ถ้าคุณขายสินค้าที่ทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในช่วงที่ยากลำบากขณะนี้ นั่นคือโอกาส เช่นการเรียนการสอนออนไลน์ ที่ปรึกษาออนไลน์ หรือแม้แต่สิ่งที่นำรอยยิ้มให้ผู้บริโภคในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้และเช่นเดียวกันสินค้าหรือบริการที่ทำให้การทำงานที่บ้านง่ายขึ้น ก็ขายได้เลย (แต่ต้องให้ลูกค้าเห็นคุณบนออนไลน์)

ลดขนาด 

แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากแต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความอยู่รอด หลายบริษัทต้องตัดทอนให้เหลือที่จำเป็นที่สุด อาจจำเป็นต้องลดเงินเดือน (ดังเช่นที่ทำในปี 2000 และปี 2008) เพื่อให้บริษัทรอดได้ ในขณะที่โรคระบาดได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จงตัดส่วนที่ได้รับผลออกให้หมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการขายจนกว่าลูกค้าจะกลับมาทำงานและจับจ่ายได้อีกครั้ง

เพิ่มเงินสดจากภายนอก

มองหาแหล่งเงินสดที่ไม่ใช่ของตนเอง เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาล โครงการที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก สร้างสรรค์ในการหาแหล่งเงินเพื่อให้อยู่รอด รวมทั้งทำสัญญาระยะสั้นเพื่อช่วยกู้วิกฤตได้ฉับพลัน มีหลายสิ่งที่คุณไม่เคยนึกมาก่อนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ตื่นตัว

ก็เหมือนกับสิ่งต่างๆในชีวิต วิกฤตนี้ก็จะผ่านมา ซึ่งก็ยากที่จะบอกได้ว่าประเทศและตลาดจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ แต่ถ้าบริษัทของคุณยังอยู่และยืดหยุ่น โอกาสก็มีมหาศาล จับตาให้ดีเพราะไม่มีใครหยั่งรู้ว่าโอกาสนั้นจะเกิดขึ้นตอนไหน

 

อ้างอิง: LinkedIn, แดน โรเซ่น ประธานกลุ่มพันธมิตรการลงทุน Alliance of Angels ในซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา