NIA ดึงสตาร์ทอัพร่วมรับมือ Covid-19

28 April 2020 Startups

NIA ชูสี่มาตรการ ดึงพลังสตาร์ทอัพนวัตกรรม หนุนรับมือ Covid-19 พร้อมกรุยทาง HealthTech, EdTech เชื่อมสถานพยาบาลสถานศึกษา

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เล่าถึงการทำงานกับหลายภาคส่วนที่จะประสานความร่วมมือนำเทคโนโลยีและบริการจากสตาร์ทอัพและบริษัทด้านนวัตกรรมได้เข้ามาช่วยประเทศรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะผ่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี  Yothi Medical Innovation District และการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม Technology and Innovation based Enterprise Development Fund (TED Fund)

ส่วนแรก การทำระบบติดตามผู้มีความเสี่ยงติดโควิด-19 ด้วยแอพลิเคชั่น DDC-Care ให้ผู้ที่เดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต้องดาว์นโหลดแอพ เมื่อผ่านจุดคัดกรองด่านตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ ด่านพรมแดนทางบก รวม 46 ด่าน

โดยการทำระบบติดตามดังกล่าว เป็นความร่วมมือภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับกรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ส่วนที่สอง เน้นการลดจำนวนคนไข้ (visit) ที่จะเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลแพทย์และเครือข่ายรวมกว่า 22 แห่ง ที่จะลดจำนวนคนให้ได้ 750,000 คน โดยจัดกลุ่มสตาร์ทอัพสายเฮลธ์เทคได้เข้ามาไปช่วยสนับสนุนให้มาสนับสนุนบริการมากขึ้น

โดย Yothi Medical Innovation District ของเอ็นไอเอ จะร่วมกับสตาร์ทอัพสายเฮลธ์เทคกว่า 22 ราย ใน 6 หมวด ตั้งแต่การคัดกรอง การแนะนำเบื้องต้น ปรึกษาแพทย์ผ่านระบบสุขภาพทางไกล การวินิจฉัยเบื้องต้น ระบบการดูแลผู้ป่วย ระบบขนส่งด้านการแพทย์ หรือเมดิคัลลอจิสติกส์

เช่น การให้คนไข้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเบาหวาน มารับคำปรึกษาทางไกล หรือเทเลเฮลธ์กับผู้เชี่ยวชาญ และอาจขยายผลไปสู่การให้บริการการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีน ที่แพทย์จะตรวจวินิจฉัยคนไข้จากระยะไกล โดยอาจให้ผู้ป่วยได้ตรวจผลเลือดจากห้องปฎิบัติการด้านนอกและส่งข้อมูลมายังแพทย์

ทั้งมีการคัดกรองผู้ป่วยผ่านแอพลิเคชั่น การวินิจฉัยเบื้องต้น โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ การดูแลผู้ป่วยด้วยการใช้หุ่นยนต์ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ (Infection Prevention Clothing) และระบบให้ผู้ป่วยรับยาจากร้านยาใกล้บ้าน

ส่วนที่สาม การประสานงานกับเอสเอ็มอีด้านนวัตกรรม สภาอุตสาหกรรม สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือสวทช. ที่จะเตรียมความพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ใช้ในโรงพยาบาลให้มีปริมาณมากเพียงพอในระบบซัพพลายเชน เช่น หน้ากาอนามัย ท่อช่วยหายใจ วัตถุดิบเพื่อการผลิตอื่นๆ

และส่วนที่สี่ การนำนวัตกรรมบริการที่มาช่วยเสริม Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม กว่าสามสิบสตาร์ทอัพในห้าหมวด ตั้งแต่การบริหารจัดการองค์กรออนไลน์  การประชุมออนไลน์ การรวบรวมข้อมูล การส่งงานเอกสารส่งพัสดุ และการเรียนการสอนออนไลน์

ดร.พันธุ์อาจ มองว่าในวิกฤตครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพได้เข้าถึงและทำงานร่วมกับโรงพยาบาลและสถานบันการศึกษามากขึ้น โดยทั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาอย่างปัจจุบันทันด่วน ช่วยการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลมากขึ้น

ในกลุ่มเฮลธ์เทคสตาร์ทอัพจำเป็นต้องระมัดระวังความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคนไข้ ในส่วนของเทคเพื่อการศึกษาหรือ EdTech จะมีพื้นที่การให้บริการกับโรงเรียนสถาบันศึกษามากขึ้น จากเดิมการใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งจะจำกัดการใช้ระบบขนาดใหญ่จากต่างประเทศ

นอกจากนั้น จะได้มีการจัดทำช่องทางการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง อัพเดทสถานการณ์ผ่าน YMID Ai Chatbot ใน Facebook  LINE@YMID  www.ymid.or.th