NIA ปล่อยงบ 100 ล้านบาท ช่วยสตาร์ทอัพฝ่าวิกฤต Covid-19

5 May 2020 Startups

NIA ปล่อยงบ 100 ล้านบาท หนุนช่วยสตาร์ทอัพ ฝ่าวิกฤต Covid-19 รับการฟื้นฟู พร้อมสร้างตลาดใหม่ ชี้หลัง Covid-19 สตาร์ทอัพสาย HealthTech, GovTech, และ EdTech เตรียมแจ้งเกิด ทั้งการพัฒนานวัตกรรม ขยายวงสู่มหาวิทยาลัยและองค์กรธุรกิจ

“เอ็นเอไอเตรียมงบประมาณเพื่อช่วยสนับสนุนลดผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในประเทศไทย ทั้งช่วงเกิดโควิดและเยียวยาฟื้นฟูหลังโควิด-19 ให้กับวิสาหกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม เศรษฐกิจและสตาร์ทอัพ” ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เล่าถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยจะครอบคลุมมาตรการการเงิน การสร้างโอกาสทางการตลาดและความรู้

มาตรการแรก มีเงินทุนให้เปล่า เบื้องต้นได้สนับสนุนทุนนวัตกรรมไปแล้วกว่า 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินอุดหนุนรวม 39.8 ล้านบาท เช่น สบายดี: แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 นวัตกรรมบริการสำหรับการขนย้ายผู้ป่วย หรือผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบบบริหารห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทานเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้ เป็นต้น

ทั้งยังได้เตรียมงบอุดหนุนแบบให้เปล่าไว้สำหรับช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 อีกกว่า 70 ล้านบาท ล่าสุดได้ร่วมกับธนาคารออมสิน ในโครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งเอ็นไอเอจะอุดหนุนดอกเบี้ยระยะยาวในวงเงินกู้ 5 ล้านบาท ตลอดสามปีและธนาคารออมสิน พร้อมธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เงินกู้ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2%

มาตรการที่สอง การสร้างตลาดใหม่และส่งเสริมการเติบโต โดยเฉพาะตลาดภาครัฐ ที่ผ่านมาได้ปลดล็อก ระเบียบจัดซื้อจัดจางภาครัฐที่จะซื้อสินค้าจากสตาร์ทอัพ ล่าสุดในช่วงโควิด-19 นี้ มีสตาร์ทอัพ HealthTech และอื่นๆรวม 12 ราย ได้เข้าร่วมทำงานจริงกับเครือข่ายโรงพยาบาลกว่า 9 แห่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสามารถขยายโอกาสต่อไปในภาครัฐอื่นได้

นอกจากนี้ เปิดพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้สตาร์ทอัพมาเผยแพร่ ผ่านทางเพจ Startup Thailand และเอ็นไอเอยังมีเครือข่ายกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เครือซีพี ไทยยูเนี่ยน สยามคูโบต้า ช.การช่าง เป็นต้น ที่พร้อมจะร่วมลงทุนและผลักดันให้กับสตาร์ทอัพ

มาตรการที่สาม การให้ความรู้และพัฒนาสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะระดับนักศึกษาและสตาร์ทอัพทั่วไป และขณะนี้ได้มีการพัฒนาเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้นผ่านสถาบันวิทยาการนวัตกรรม ที่จะมีกว่าสิบหลักสูตรเดือนพฤษภาคมนี้

ผู้อำนวยการ มองด้วยว่า ก่อนโควิด-19 สตาร์ทอัพไทย กำลังไต่ขึ้น เราเริ่มมีนโยบายชัดเจน มีดีลขนาดใหญ่  มีจำนวนธุรกิจขนาดใหญ่ร่วมลงทุน หรือ CVC (Corporate Venture Capital) ของไทยที่เข้มแข็งมาก

ทั้งนี้ แม้ภาพเชิงระบบอาจไม่หวือหวาแต่พัฒนาการน่าพอใจ โดยเฉพาะด้านตลาดการลงทุน และองค์กรขนาดใหญ่ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ที่ขยายการลงทุนมาในธุรกิจและแม้สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีขนาดใหญ่มากนักและยังไม่ลงทุนในเทคโนโลยีระดับสูง แต่ก็ยังมีให้เห็นได้ในบางส่วน

หลังโควิด-19 เราคงจะได้เห็น Deeptech ในกลุ่ม Hard Science เช่น Medical Tech ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และไบโอเทคที่เกิดในมหาวิทยาลัยและในองค์กรขนาดใหญ่ จะมีบทบาทมากขึ้น  ทั้งเชื่อว่า สตาร์ทอัพกลุ่มบริการภาครัฐและพลเมือง สุขภาพและการศึกษา จะมาเป็นตลาดการบริการสาธารณะที่คนใช้มากขึ้น เพราะความคุ้นชินในช่วงปิดเมือง Lockdown  ส่วนของ CVC จะลงทุนใน กลุ่ม IP base มากพอๆกับดิจิทัลแพลทฟอร์มที่ขยายกิจการได้ในช่วงวิกฤต