สตาร์ทอัพรับมืออย่างไรในภาวะวิกฤตโคโรน่าไวรัสระบาด

6 April 2020 Startups

ความเห็นของนักลงทุน (วีซี) และผู้ประกอบการในประเทศอินเดียและจีนมองว่า ประเด็นหลัก ๆ ของสตาร์ทอัพที่เผชิญกับภาวะวิกฤตอันเนื่องมาจากไวรัสโคโรน่าได้แก่เรื่องการสื่อสารที่มากขึ้น การรักษาสายป่านเงินสด และงานประจำวันแม้ว่าทุกคนจะทำงานที่บ้าน

ในขณะที่ประเทศจีนกำลังกลับเข้าสู่ภาวะการดำเนินธุรกิจปกติ ประสบการณ์ของบริษัทเอกชนและผู้ประกอบการน่าจะใช้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับผู้ก่อตั้งบริษัททั้งหลายในอินเดียที่ขณะนี้เคสผู้ติดเชื้อไวรัสกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แอนดี้ เชน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Whale สตาร์ทอัพจีนผู้ให้บริการโซลูชั่นซอฟต์แวร์และเทคโนโนลยีแก่ธุรกิจร้านค้าปลีกกล่าวว่าหลายสิ่งเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ และในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้พูดคุยกับลูกค้า รวบรวมข้อมูลและระดมสมองภายใน เพื่อให้ทีมผู้บริหารและทีมผลิตภัณฑ์ดำเนินการในช่วงนี้

เชนบอกว่าเรื่องอื่น ๆ ที่ทำในช่วงนี้คือการจ้างงานซึ่งมีการเลือกสรรมากขึ้น มุ่งเน้นวัตถุประสงค์และตั้งเป้าหมายภายในองค์กร แม้ว่ายอดขายในไตรมาสนี้จะลดลงและอาจจะรวมถึงไตรมาสหน้าด้วย บริษัทก็ยังเลือกที่จะคงเป้ายอดขายไว้เช่นเดิม

โมหิต บัตนาการ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Sequoia Capital India กล่าวว่าผู้บริหารควรสื่อสารกับมีผู้ส่วนเกี่ยวข้องให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้ค้า และนักลงทุน

“แม้แต่ก่อนจะเกิดคำถามเรื่องการปลดพนักงาน ก็ควรพูดคุยเรื่องการลาโดยไม่รับเงินเดือน การลดเงินเดือน” เขากล่าวและว่าการมีสายป่านเงินสดเป็นเรื่องสำคัญ และชี้แนะว่าถ้าผู้ก่อตั้งบริษัทอยู่ในรอบของการระดมทุนขณะที่ไวรัสร้ายตัวนี้กำลังเล่นงาน พวกเขาก็ควรจะปิดดีลให้ได้ แม้ว่าจะได้ราคาที่ต่ำลงหรือมีข้อตกลงที่ต่างจากเดิมช่วงของการนำเสนอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีเงินสดและสามารถอยู่รอดได้

นักลงทุนหลายคนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจในการจัดการกับความเครียดในสถานการณ์ที่ไม่ปรกติ เช่นการทำงานที่บ้านที่ต้องยืดระยะเวลานานขึ้น

วานี โคล่า กรรมการผู้จัดการ Kalaari Capital บอกว่าการทำงานประจำแม้ในภาวะที่ไม่มีความแน่นอนเช่นนี้ก็ยังดีกว่า เพราะช่วยให้ผู้คนรู้สึกว่ามีความปรกติ ซึ่งสำหรับตัวเธอเอง เมื่อตื่นตอนเช้า ก็เล่นโยคะ อาบน้ำ แต่งตัวราวกับว่าจะไปทำงานและจัดแจงทำงานออฟฟิศที่บ้าน

เดฟ แคร์ ผู้บริหาร Lightspeed India Partners Advisors มองว่าไม่ว่าจะยามสุขหรือทุกข์ นักลงทุนก็น่าจะมองผลของโควิด-19 ในเชิงบวกที่มีต่อสตาร์ทอัพอีโคซิสเต็ม ซึ่งขณะนี้นับเป็นจังหวะที่ดีที่จะตรวจสอบคุณภาพรายได้ และคุณภาพการเติบโตของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงการเข้าไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ก็เน้นเรื่องคุณภาพรายได้ครอบคลุมถึงเรื่องการเติบโตแบบไม่ต้องเพิ่มต้นทุน หรือการลดราคา หรือแจกสินค้าฟรี

“เรามักจะพูดเสมอว่า อย่าปล่อยให้ภาวะชะลอตัวผ่านไปอย่างเสียเปล่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่คุณจะสามารถหาคนทำงานที่เก่ง ๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการซื้อตัว และก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้งบการตลาดสูงเกิน” บัตนาการ์กล่าว

 

ที่มา : moneycontrol.com