ถึงเวลา “อียู” ลุยพัฒนา AI จริงจัง

28 February 2019 Technology

มีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจจาก AI Index 2018 ที่เป็นการเก็บข้อมูลร่วมกันของสถาบันการศึกษายักษ์ใหญ่อย่าง MIT มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่าจากเดือนมกราคม ปี 2015 – มกราคม ปี 2018 นั้น สตาร์ทอัพด้าน AI มีการเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ซึ่งถือว่าเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างมาก และที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือบรรดานักลงทุนที่ให้ความสนใจสตาร์ทอัพด้าน AI ก็เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวด้วยเช่นกัน (2013 – 2017)

ยกตัวอย่างเช่น Holidu สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวของเยอรมนีที่นำ AI เข้าไปช่วยในการทำงาน โดย AI จะใช้เทคโนโลยี image recognition เข้าไปตรวจจับภาพที่พักจากเว็บไซต์ในระบบที่มีมากกว่าหลายร้อยเว็บไซต์ว่าที่ใดมีภาพห้องพักตรงกันบ้าง และระบบจะคัดกรองเว็บไซต์ที่มีราคาถูกที่สุดมาแสดง

Michael Siebers ผู้ร่วมก่อตั้งและ CTO ของ Holidu กล่าวว่า การใช้ AI มาช่วยทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีความโปร่งใสมากขึ้น จากเดิมที่เคยอาจถูกตั้งข้อสังเกตว่า ต้องจ่ายเงินให้แพลตฟอร์มเพื่อห้องพักจะได้ถูกคัดเลือกขึ้นมาแสดงเป็นอันดับต้น ๆ ปัญหานี้ก็หมดไปเพราะ AI จะเป็นตัวคัดกรองเอง

การใช้ AI ยังทำให้ Holidu สามารถขยายธุรกิจออกไปได้มากถึง 21 ประเทศ และมีพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 150 คนทั่วโลก อีกทั้งยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนีด้วย

การใช้ AI ในธุรกิจยังมีอีกหลายแบบ เช่น การเรียนรู้วิธีการคลิก การใช้งานระบบ และนำข้อมูลเหล่านี้กลับมาเทรน AI อีกทีว่าจะให้บริการลูกค้าอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด

แต่นอกจากสตาร์ทอัพด้าน AI ที่ผุดเป็นดอกเห็ดแล้ว การควบรวมกิจการในอุตสาหกรรม AI ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน โดยนับจากปี 2013 – 2017 การควบรวมกิจการด้าน AI มีตัวเลขเพิ่มขึ้นราว 500% นำโดยกูเกิล ซึ่งมีการควบกิจการสตาร์ทอัพด้าน AI ไปทั้งหมด 29 ครั้ง คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2006 – 2018) ขณะที่บริษัทจากสหภาพยุโรปไม่มีภาพเหล่านั้นปรากฏเลย

นั่นจึงนำไปสู่การลงขันกันจากประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเพื่อเทเงินลงในอุตสาหกรรม AI สูงถึง 20,000 ล้านเหรียญยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยราว 7.14 แสนล้านบาท โดยเม็ดเงินนี้ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนด้าน AI ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วย จากการลงทุนข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สหภาพยุโรป หรืออียูก็กำลังมองการพัฒนา AI เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในภูมิภาคให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้นั่นเอง

โดยมีความเป็นไปได้ว่า ทางอียูจะเปิดตัวแพลตฟอร์ม AI-on-demand ขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการ AI4EU (เอไอฟอร์อียู) ที่นอกเหนือจากประเทศในอียูทั้ง 21 ชาติแล้ว ก็ยังมีพาร์ทเนอร์จาก 79 องค์กรเข้าร่วมด้วย เช่น SAP, Allianz โดยในเบื้องต้น โครงการนี้จะเลือกพื้นที่ศูนย์วิจัยที่ทางโครงการคาดว่าจะทำการทดลองขึ้นมา 5 แห่ง เพื่อทำการทดสอบโครงการนำร่อง 8 โครงการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ด้านเฮลธ์แคร์ ด้านสื่อ เกษตรกรรม ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ อาจเป็นหนึ่งในความหวังที่อียูอยากให้ภาพของการพัฒนา AI ในภูมิภาคตัวเองได้รับการแก้ไข เพราะที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้ด้านการพัฒนา AI ของสหภาพยุโรปที่ประชาคมโลกมองเห็นนั้นยังค่อนข้างผิดเพี้ยนไปพอสมควร โดยเรามักพบว่าสื่อตะวันตกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามักมองการพัฒนา AI ของสหภาพยุโรปเป็นรองซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา และจีน อยู่เสมอ บ้างก็มองว่า อียูเป็นเพียงเมืองอาณานิคมของบรรดายักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาถึงของ AI จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่าง และจะกระทบกับหลายอุตสาหกรรม บางคนอาจต้องเปลี่ยนงาน เปลี่ยนกระบวนการทำงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย หรือหากเลวร้ายไปกว่านั้น ก็อาจเป็นคำเตือนของศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์กิ้ง ผู้ล่วงลับ ที่ว่า AI นั้นจะทำให้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ถึงคราวอวสาน ทางที่ดีคือควรหาทางควบคุมการพัฒนา AI และหุ่นยนต์อย่างรอบคอบกว่าที่เป็นอยู่

Entrepreneur.com