สตาร์ทอัพจะเติบโตได้อย่างไรหลังจากช่วง 3 ปีแรก

24 February 2019 Startups

ผู้ประกอบการทุกคนวาดฝันถึงการขยับขยายธุรกิจ แต่ก่อนอื่นควรแน่ใจว่า คุณมีเหตุผลที่ดีในการขยายธุรกิจนั้นให้โตขึ้น 9 ใน 10 สตาร์ทอัพจะประสบความล้มเหลวภายในช่วง 3 ปีแรก ขณะที่บางครั้ง ผู้ที่รอดและไปต่อพยายามดิ้นรนกับแผนการเติบโต ต่อไปนี้คือคำแนะนำ 2 ประการซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไปไกลกว่าการอยู่รอด และประสบความสำเร็จในฐานะสตาร์ทอัพ

กำหนดช่วงเวลาขยายธุรกิจให้โต

ผู้ประกอบการทุกรายวาดฝันถึงช่วงการขยายธุรกิจ แต่จงแน่ใจก่อนว่า คุณมีเหตุผลอันเหมาะควร ผู้ประกอบการโดยมากมองข้ามจุดสำคัญยิ่งข้อนี้ไป เนื่องจากพวกเขาถูกบดบังด้วยความคิดที่ว่าจะขยายธุรกิจของตนด้วยวิธีต่างๆ อย่างไร

นี่คือความลับ  เมื่อคุณได้สร้างธุรกิจซึ่งมีคุณค่าสำคัญอย่างแท้จริง หนทางในการขยายธุรกิจอาจจะไม่สลับซับซ้อนเช่นที่เป็นอยู่ และเมื่อคุณค้นพบคำตอบแล้ว ให้ถามตัวเองดังต่อไปนี้

  • อะไรคือสิ่งจำเป็นในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และเพราะเหตุใด

สิ่งพื้นฐาน 3 ประการที่จำเป็นต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ ได้แก่  คน ระบบ และผลิตภัณฑ์

  • คุณมีทีมที่ใช่ในขนาดที่เหมาะสม และวิธีหรือกระบวนการคิดที่ถูกต้องแล้วหรือยัง ?

ทีมที่มีขนาดใหญ่กว่าไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพมากกว่า งานวิจัยเผยว่า ทีมซึ่งมีขนาดมากกว่า 5 คน ท้ายที่สุดแล้วจะใช้เวลาในการประสานงานกันมากกว่าลงมือทำงานจริง

ทั้งนี้ การจ้างคนมาทำงานเป็นเพียงก้าวแรก คุณต้องมั่นใจว่าพนักงานที่จ้างมาใหม่เข้าใจและเชื่อในวิสัยทัศน์ของคุณ  รวมทั้งคุณค่าหรือสิ่งที่บริษัทของคุณนำเสนอออกไป นอกจากนี้พวกเขาจะต้องค้นพบเป้าหมายของตนเอง เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสำหรับตัวพวกเขาเอง  ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่จะสร้างแรงกระตุ้นให้พวกเขาทำงานกับสตาร์ทอัพของคุณไปได้นานๆ แต่ยังทำให้พวกเขาทุ่มเทความสามารถที่มีอย่างเต็มที่

  • ระบบของคุณพร้อมหรือยังสำหรับการเติบโต?

ผู้ประกอบการมักมองว่า การขยายธุรกิจให้เติบโตจะต้องเพิ่มขั้นตอนหรือกระบวนการทำงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ รวมทั้งระดับชั้นในการบริหารจัดการให้มากขึ้นด้วย ซึ่งนั่นทำให้พวกเขามองเห็นระบบต่างๆ ได้ไม่ชัดเจน แต่ก็จำต้องยอมรับเพื่อให้ธุรกิจของตนเติบโตได้

ในทางกลับกัน หากธุรกิจเติบโต เพราะสิ่งที่ตรงกันข้ามล่ะ?  จริงๆ แล้ว คุณควรพิจารณาลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็น รวมทั้งลดส่วนที่ไม่จำเป็นของกระบวนการทำงานลง นำระบบเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้กับกระบวนการที่ใช้มือ ส่วนขั้นตอนในการทำงานซึ่งสร้างมูลค่าน้อยและไม่สำคัญ ก็ใช้วิธีเอาท์ซอร์ซ หรือจ้างคนภายนอกทำให้

ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของ Ed Whitacre อดีตซีอีโอของ General Motor ผู้ซึ่งมักได้รับเครดิตว่าช่วยพลิกฟื้นบริษัทให้ประสบความสำเร็จ โดยลดปริมาณรายงานซึ่งพนักงานต้องจัดเก็บลงเป็นจำนวนมาก

นอกจากตัดขั้นตอนหรือกระบวนการที่ไม่จำเป็นออกแล้ว   คุณก็อาจต้องสร้างกระบวนการทำงานใหม่ๆ หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมเพื่อตอบสนองความจำเป็น  หรือรองรับความต้องการที่เติบโตขึ้น ไม่เช่นนั้น สตาร์ทอัพของคุณจะประสบความเสียหายอย่างรุนแรง

จงอย่าทำให้ธุรกิจของคุณแค่โต แต่ทำให้มันโตด้วยวิธีที่ชาญฉลาด พัฒนาระบบของคุณอยู่เสมอโดยไม่ย่อท้อ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบดังกล่าวจะสนับสนุนธุรกิจของคุณในสเกลที่โตขึ้นได้อย่างมั่นคง โดยมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการที่น้อยกว่าเดิม

  • มั่นใจแล้วหรือยังว่าคุณได้นำมาตรการซึ่งทุกคนมีส่วนรับผิดชอบต่อการเติบโตของบริษัทมาใช้?

การไม่ได้นำมาตรการดังกล่าวมาใช้ขณะขยายสตาร์ทอัพให้เติบโต เรียกได้ว่าเป็นการฆาตกรรมตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังสร้างทีมให้โตขึ้น Bob Sutton ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมในองค์กรแห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นิยามคำว่า scaling ว่าหมายถึง การกระจายความเยี่ยมยอดออกไป ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือให้ทุกคนได้มีส่วนรับผิดชอบต่อการเติบโตและความสำเร็จของสตาร์ทอัพ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในบทบาทหรือตำแหน่งใดก็ตาม

สร้างความท้าทายให้ลูกน้องของคุณ

เมื่อแรกที่คุณเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ลูกน้องรายแรกๆ ของคุณมักจะเป็นผู้เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในวิสัยทัศน์ของคุณ และมีความไว้วางใจในตัวคุณ แต่แล้วสิ่งนั้นก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อทีมเติบโตจากจำนวนหัวเลี้ยวหัวต่อ คือราว 20 คนไปเป็น 50 คน ส่งผลให้ตอนนี้คุณไม่มีเวลามีปฏิสัมพันธ์กับทีมงานแต่ละคนเป็นประจำอีกต่อไป

ในระยะนี้ ลูกจ้างที่คุณจ้างมาใหม่และลูกจ้างเก่าจะเริ่มกังวลกับเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพและโอกาสที่พวกเขาจะเติบโตขึ้น แม้เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องซึ่งโยนให้ฝ่าย HR ดูแลได้ แต่คุณก็ควรมีส่วนริเริ่มในการวางแผนสำหรับการเติบโตของลูกจ้างในบริษัท

หนทางที่ดีที่สุดก็คือ สร้างความท้าทายให้ลูกจ้างของคุณเป็นรายบุคคลด้วยโปรเจ็คต์ใหม่ๆ หรือให้โอกาสพวกเขาได้รับผิดชอบในเรื่องใหม่ๆ ทว่าตอนนี้ความท้าทายสำหรับคุณก็คือ การสร้างระบบและความเป็นผู้นำ เพื่อให้มีผู้มารับบทบาทดังกล่าวแทนคุณ

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการสร้างความท้าทายที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างจะช่วยบ่มเพาะวัฒนธรรมของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นภายในบริษัท เช่นที่ปรากฏในงานวิจัยหลายชิ้น การรีวิวสรุปผลงานวิจัยเชิงวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ในปี 2014 โดย University of the Basque Country พบว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ได้รับมอบหมายให้มีบทบาทซึ่งท้าทายความสามารถจะมีผลการปฏิบัติงานเชิงสร้างสรรค์ดีกว่าปกติ เทียบกับคนที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานง่ายๆ มีเพียง 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีผลการทำงานเชิงสร้างสรรค์  หากสตาร์ทอัพปราศจากแรงขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เรายังจะเรียกว่าสตาร์ทอัพได้จริงหรือ? ถ้าเช่นนั้น ผู้ประกอบการเช่นคุณจะมีแรงขับเคลื่อนดังกล่าวได้อย่างไร?

  • ค้นหาความท้าทายสูงสุด   

โชคไม่ดีที่ความท้าทายและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  มิได้เป็นเหตุและผลเกี่ยวเนื่องกันมา ดังนั้นคุณจำเป็นต้องสร้าง sweet spot หรือจุดสมดุลที่ลงตัว คุณต้องมั่นใจว่าลูกจ้างของคุณมีทักษะสูงพอที่จะทำงาน ซึ่งทั้งคุณและเขาเห็นว่าเป็นงานท้าทาย ไม่เช่นนั้น คุณจะทำให้พวกเขาสับสนหรือว้าวุ่นใจได้ง่ายๆ

  •  ใช้พลังแห่งความคาดหวัง (the Pygmalion effect) และชื่นชมศักยภาพในตัวลูกจ้างอย่างเปิดเผย

โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า the Pygmalion Effect  ก็ได้อานิสงส์จากความจริงดังกล่าว (ความเชื่อและความคาดหวังที่เรามีต่อคนคนหนึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของคนคนนั้นด้วย เช่น หากเรามีความคาดหวังในตัวลูกจ้างสูง ผลก็คือเขาก็จะทำงานดีขึ้นไปด้วย/ อธิบายเพิ่มเติม) ทั้งนี้ สิ่งที่คุณยกย่องหรือท้าทายให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วจะเป็นจริง ก็เพราะลูกจ้างของคุณเกิดกำลังใจที่จะพัฒนาตนเองเพื่อความท้าทายนั้น

  •  ใช้กฎ 70 เปอร์เซ็นต์ของ Google

ความกลัวที่จะล้มเหลวมักทำให้ลูกจ้างไม่ยอมรับหรือสร้างความท้าทายอันยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ ปัจจัยชี้วัดผลปฏิบัติงานของลูกจ้างก็มักจะเกี่ยวเนื่องกับค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับ ซึ่งยิ่งทำให้โทษของการล้มเหลวดูร้ายแรงขึ้น

ทำไมไม่ลองใช้กฎ 70 เปอร์เซ็นต์ที่ Google ใช้อยู่ล่ะ? Google ใช้หลักการที่เรียกว่า Objective and Key Results (OKRs) แทนที่จะใช้หลัก Key Performance Indicator (KPIs) ประเด็นสำคัญก็คือ หลัก OKRs นี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินหรือผลตอบแทน และสนับสนุนให้ลูกจ้างบรรลุเป้าหมาย 60-70 เปอร์เซ็นต์ที่ตั้งไว้ตามหลัก OKRs โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขระดับที่ใกล้เคียงกับ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายบริหารมีแรงกระตุ้นและส่งสัญญาณไปยังพวกคนทำงานว่า  “คุณควรตั้งเป้าหมายให้สูงกว่านี้” แทนที่จะเป็น “ทำได้ดี” หากใช้หลัก KPIs

โดย  Kevin Ng  Managing Director แห่ง ThunderQuote

Entrepreneur.com