ดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 7 ดันสตาร์ตอัพไทยซีรีส์ A ขึ้นแท่นยูนิคอร์น

23 February 2019 Investment

ดีแทค แอคเซอเลอเรท เปิดโครงการ ปี 7 จัดหลักสูตรใหม่ A Academy สำหรับสตาร์ทอัพที่จัดอยู่ในกลุ่มการลงทุนระดับซีรีส์ A ซึ่งเป็นการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนในระดับ Venture Capital และ Corporate Venture Capital ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ในช่วง 1 – 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก หลังพบว่าสตาร์ทอัพไทยติดกับดักซีรีส์ A (Series A bottleneck) ไม่สามารถโตต่อไปได้

ปัจจุบันดีแทค แอคเซอเลอเรท มีสตาร์ทอัพที่ผ่านการระดมทุนระดับซีรีส์ A จำนวน 6 ธุรกิจ ในขณะที่ยังมีอีก 23 ธุรกิจที่ผ่านการระดมทุนระดับเริ่มต้น (Seed) โดยมูลค่าของการระดมทุนจะอยู่ในช่วง 20,000 – 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 600,000 – 1.5 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถระดมทุนต่อไปถึงซีรีส์ A ได้ ดังนั้นจึงเปิดตัวโครงการ A Academy นี้ขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านั้นให้ก้าวไปสู่การระดมทุนระดับซีรีส์ A  โดยในโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมสำหรับการระดมทุนในรอบการระดมทุนที่มีมูลค่าสูง รวมไปถึงการเข้าถึงลูกค้าที่มากขึ้น และการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ เช่น นำการเรียนรู้ของ Machine Learning และ AI มาปรับใช้กับธุรกิจ เป็นต้น

หลักสูตร A Academy นับเป็นโครงการที่จะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถที่จะสร้างมูลค่าของบริษัทให้ได้100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่เป็นหนึ่งในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ให้กลายเป็นยูนิคอร์นต่อไป สำหรับเป้าหมายของดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 7 คือมองหาธุรกิจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน อี-คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว อินชัวร์เทค และอื่นๆ

สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท กล่าวว่าในประเทศไทยมีสตาร์ทอัพไม่ถึง 10% ที่ได้รับการลงทุนจาก Seed ไปถึงซีรีส์ A อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก

ทั้งนี้ในกลุ่มสตาร์ทอัพ ดีแทค แอคเซอเลอเรท มีถึง 25% ที่สามารถระดมทุนจาก Seed ถึงซีรีส์ A ซึ่งเราอยากที่จะเพิ่มอัตราส่วนการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยให้ได้มากกว่านี้

สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ข้อมูลจาก Techsauce Startup Report 2561 ระบุถึงสถิติการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีการลงทุนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา การลงทุนลดลงเหลือเพียง 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี พ.ศ. 2560 ที่มีจำนวน 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะไม่มีการลงทุนในดีลใหญ่ๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา

สาเหตุหลักที่ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ มี 3 ประการ คือ

  1. นักลงทุนหันไปลงทุนในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าในไทย เช่น ไปลงทุนที่เวียดนาม เนื่องจากมีคนที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้น ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดนักลงทุนให้ไปลงทุนได้มากกว่า ในเวียดนามมีการลงทุนถึง 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 92 ดีล
  2. การแข่งขันที่รุนแรงจากแพลตฟอร์มซูเปอร์แอปฯ (super app) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกบริการ และต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกวัน ทำให้สตาร์ทอัพในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางต้องออกจากธุรกิจไป เนื่องจากสู้กับซูเปอร์แอปฯ เหล่านี้ไม่ได้ เช่น Line และ Grab ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซูเปอร์แอปฯ ดังกล่าวแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร หรือควบรวมกิจการ สร้างอีโคซิสเต็ม ขยายบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้ใช้งานได้ครบครันในแอปฯ เดียว เช่น บริการส่งของ ส่งอาหาร บริการด้านการเงิน ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกสบาย โดยไม่ต้องใช้แอปฯ อื่น
  3. ต้นทุนในการได้มาซึ่งลูกค้า (Customer Acquisition Cost: CAC) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากจึงเริ่มที่จะเปลี่ยนรูปแบบจาก B2C (Business to Consumer) คือการที่ธุรกิจขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปโดยตรง ไปสู่ B2B (Business to Business) คือการทำธุรกิจโดยขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นลูกค้าองค์กร ไม่ใช่รายบุคคล เพื่อสร้างรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งรูปแบบธุรกิจ แบบ B2B ที่มีศักยภาพในการเติบโตแบบก้าวกระโดด (scalable business model) ได้นั้นก็ทำได้ยาก

ในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา มีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติไทยทั้งสิ้น 34 รายการ โดยมีมูลค่าระดมทุนทั้งสิ้น 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมี 7 รายการที่เป็นสตาร์ทอัพจากดีแทค แอคเซอเลอเรท โดยมีมูลค่าระดมทุนทั้งสิ้น 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่ากับ 17% ของการลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ Fastwork ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงที่สุดในระดับซีรีส์ A ที่ผ่านมา นอกจากนี้ Ricult เองก็ได้รับการระดมทุนระดับ Seed Fund ที่สูงที่สุดของหมวดเกษตรกรรมประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน

อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดีแทค แอคเซอเลอเรท เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของดีแทคที่จะช่วยผลักดันให้เกิดบริการที่สร้างสรรค์ โดยได้นำเอาแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพมาช่วยสนับสนุนต่อยอดนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคม โดยการแสวงหาความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และนำเอาสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการทดสอบ 5G Testbed สนามทดลองขนาดใหญ่เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบ 5G

ดีแทค แอคซอเลอเรท มีสตาร์ทอัพในโครงการรวมทั้งสิ้น 46 ธุรกิจ ซึ่งมีอัตราความสำเร็จของธุรกิจคิดเป็น 70% โดยคิดเป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท และมีปริมาณการระดมทุนคิดเป็นมูลค่า 870 ล้านบาท