NIA ตั้งเป้ายูนิคอร์นไทย 1-2 รายใน 5 ปี

22 February 2019 Startups

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA  ยกเครื่องสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่และสตาร์ทอัพ ติดปีกเร่งโตขยายขนาดธุรกิจ พร้อมเชื่อมโยงเข้าถึงแหล่งทุนวีซี 44,000 ล้านบาทในไทย เล็งไกลหวังมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นไทย 1-2 รายใน 5 ปี

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เล่าถึงการเปลี่ยนแนวทางการให้งบสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่และสตาร์ทอัพว่า เป็นไปตามเป้าหมายของเอ็นไอเอว่าด้วยการสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ ภายใน 10 ปี จะต้องมีธุรกิจขนาดใหญ่ด้านนวัตกรรม 3,000 ราย

โดยจะให้น้ำหนักการเป็น “ผู้เชื่อมโยง” หรือซิสเต็มอินทิเกรเตอร์ มากกว่าการเป็น “หน่วยงานให้ทุน” เนื่องจากที่ผ่านมา การให้ทุนแบบ 1 ต่อ 1 ในรายโครงการ อาจสร้างผลกระทบได้จำกัด และผู้ได้รับทุน ยังไม่สามารถเติบโตได้โดยขาดกลไกตลาด และการเข้าถึงแหล่งทุนอื่นๆ ตามระยะของการขยายธุรกิจ

ด้วยบทบาทใหม่ จะทำให้การสนับสนุนบริษัทด้านนวัตกรรมเป็นไปอย่างครบวงจรมากขึ้น ปัจจุบันมีเงินทุนจากนักลงทุนและกลุ่มทุนร่วมลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 44,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโต 5-6 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าปีนี้จะเห็นดีลขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจากคอร์ปอเรทเวนเจอร์แคปปิตอลหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าซื้อกิจการ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่วีซีเข้าซื้อยังเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพต่างประเทศ เช่น การลงทุนของบีคอน วีซีลงในแกร็บเพย์ และเซ็นทรัลในแกร็บ ประเทศไทย เอ็นไอเอหวังที่จะเห็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่มีมูลค่าธุรกิจพันล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างน้อย 1-2 ราย ภายใน 5 ปี

ปัญหาหลักของสตาร์ทอัพที่ไม่เติบโตระดับยูนิคอร์นส่วนหนึ่ง คือการขาดแนวคิดที่จะขยายธุรกิจระดับภูมิภาค หรือระดับโลก การเข้าถึงตลาดและนักลงทุน ซึ่งเอ็นไอเอมีพันธมิตรที่จะเชื่อมโยงแหล่งทุนโดยตรงอย่างน้อย 2-3 กองทุน มูลค่า 3,500 ล้านบาท สำหรับแนวทางใหม่การให้ทุนของเอ็นไอเอ จะอยู่ในกรอบ “Groom Grant Growth” ด้วยกรอบวงเงิน 300 ล้านบาท เป็นไปตามระดับผู้ประกอบการ โดยเริ่มจากการบ่มเพาะ Groom ในระดับมหาวิทยาลัยที่จะสร้างผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งเดิมอบรมนักศึกษา 40,000 ราย มีศักยภาพจัดตั้งบริษัท 40 ราย โดยจะเร่งขยายไประดับปริญญาโทและเอก เพื่อสร้างดีปเทคสตาร์ทอัพให้มากขึ้น เมื่อธุรกิจพร้อมก็ขอเงินทุนสนับสนุน Grant ใน 2 ประเภท นวัตกรรมมุ่งเป้า วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่าน 6 สาขา การดูแลสุขภาพ อาหารออกแบบสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สมุนไพรเพื่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคงและกิจการพลเรือน ท่องเที่ยว และ Smart Logistic/อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี IoT ซึ่งเปิดรับข้อเสนอโครงการจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และประเภทนวัตกรรมเปิด หรือโอเพ่นอินโนเวชั่น วงเงิน 1.5 ล้านบาท ด้านชีวภาพ เศรษฐกิจการผลิตและการหมุนเวียน และเศรษฐกิจบริการและแบ่งปัน

สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจะสร้างตลาดเพื่อเติบโต (Growth) เช่น ความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับหน่วยงานต่างประเทศ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับวิสาหกิจ ไม่เพียงเศรษฐกิจ เอ็นไอเอยังส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม ทั้งนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า วงเงิน 1.5 ล้านบาท โดยมีโจทย์ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation Village ที่มุ่งแก้ไขปัญหา 3 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับข้อเสนอถึงเมษายนนี้ ในหัวข้อนวัตกรรมการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ นวัตกรรมบริการสาธารณะ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง และนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบเปิด วงเงิน 1.5 ล้านบาท ครอบคลุมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร น้ำ และพลังงาน ด้านภาครัฐและการศึกษา ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านความเป็นเมือง ด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และด้านการจัดการภัยพิบัติ