VC ทั่วโลกลงทุน 255,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018

21 February 2019 Investment

KPMG เผยรายงานวีซีทั่วโลกลงทุน 255,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 วีซีเน้นลงทุนสตาร์ทอัพดีลใหญ่เน้นคุณภาพ คาดปี 2019 จะเห็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น เข้าระดมทุน IPO เฮลธ์เทค ฟินเทค ยานยนต์และเอไอ ยังคงร้อนแรง ด้านสตาร์ทอัพไทย ยังกระจุกดีลเล็ก แนะต้องเร่งมองขยายตลาดภูมิภาคให้ได้

รายงาน KPMG Enterprise Venture Pulse Report ระบุการลงทุนของกลุ่มทุนร่วมลงทุน หรือวีซีทั่วโลกแตะ 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการลงทุนบริษัทผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ Juul ของสหรัฐฯ

ดีลของวีซีในไตรมาส 4 ถือเป็นดีลที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 รองเฉพาะดีลของ  Ant Financial ที่ระดมทุนได้ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไตรมาส 2 ในปีที่ผ่านมา โดยทำให้ภาพรวมการลงทุนวีซีทั่วโลกในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 255,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 จากมูลค่า 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในปี 2017

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ทวีปอเมริกา เอเชีย และยุโรป เป็นภูมิภาคที่มีระดับการลงทุนวีซีสูงในปีที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกมีจำนวนดีลลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี อยู่ที่ 15,299 ดีล ในปีที่แล้ว จาก 17,314 ดีล ในปี 2017 และสูงสุด 20,172 ดีล ในปี  2015 และจำนวนดีลยังต่ำสุดในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา มีเพียง 3,048 ดีล ในรอบ 25 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2012

Brian Hughes หุ้นส่วนของ KPMG Venture Capital Practice ระบุว่า การลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้นแสดงให้เห็นว่าวีซีเน้นการลงทุนในระดับท้ายๆ ที่มีมูลค่าระดับเมกะดีลเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐ​ เฉพาะไตรมาส 4 มีรวมกว่า 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของการลงทุนทั้งหมดในไตรมาสนี้ ส่วนจำนวนดีลที่ลดลงจะเป็นดีลเริ่มต้น เราเชื่อว่าบริษัทที่มีคุณภาพจะยังคงดึงดูดการลงทุน และคิดว่าจะมีการเข้าตลาดหุ้นในปีนี้อย่างแข็งแกร่ง

การลงทุนของวีซีทั่วโลกเพิ่มจาก 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว มาเป็น 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 4 ปีเดียวกัน และดีลใหญ่ของ Juul และอีก 5 เมกะดีลที่มีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้ไตรมาส 4 มีระดับการลงทุนสูงสุดอันดับ 2 เป็นประวัติการณ์ และดีลชอง Juul ใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ของวีซีในทวีปอเมริกาและสหรัฐฯ

ส่วนวีซีในเอเชียลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสสุดท้าย เหลือเพียง 15,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว จาก 17,60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 ปีเดียวกัน

แม้จะมีมูลค่ารวมลดลง แต่เอเชียก็มีขนาดดีลที่ใหญ่ระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ​ มากกว่า 4 ดีล ทั้ง ByteDance ของจีน ระดมทุน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แกร็บสิงคโปร์​  2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Tokopedia ของอินโดนีเซีย 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Swiggy จากอินเดีย 1,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการประเมินบริษัทก่อนการลงทุน (pre-money valuation) ของการร่วมลงทุนในทุก series มีค่ากลาง (median) ที่สูงขึ้น คือ series D  มีค่ากลางสูงถึง 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และวีซีระดับ seed stage มีค่ากลางที่ 6.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยพบค่าเฉลี่ยของการร่วมลงทุนในบริษัท series A ทั่วโลกอยู่ที่ 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มาอย่างมาก

โดยการร่วมลงทุนในการขนส่งในตัวเมือง (urban mobility) พุ่งขึ้นสูงเกือบ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว จากเดิม 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการลงทุนจากวีซีที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ในธุรกิจเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากเดิม 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017  เป็น 2,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018

เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agtech) ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนวีซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการลงทุนรวมทั่วโลกเติบโตจาก 1,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017เป็น 2,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018

ทวีปเอเชียทุบสถิติรายปีของการลงทุนในวีซี  

กองทุนร่วมลงทุนในทวีปเอเชียมียอดทะลุสถิติรายปีขึ้นเป็น 93,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา จากเดิม 65,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีก่อนหน้า  การเพิ่มขึ้นครั้งนี้มีส่วนมาจากการร่วมลงทุนของ Ant Financial ซึ่งสามารถระดมทุนได้ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 2 ถึงแม้ว่ามูลค่าการร่วมลงทุนในทวีปเอเชียลดลงจาก 17,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 เป็น 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 4

Ian Thornhill, Head of Deal Advisory ของ KPMG  Thailand ระบุว่า ปัจจุบันมีการลงทุนจากนักลงทุนวีซี และการลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อ-ขายในตลาด (private equity) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย

โดยส่วนใหญ่มักเป็นการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี การลงทุนยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่มีการแข่งขันและการประเมินมูลค่าบริษัท (valuation) ที่สูงมากขึ้นเนื่องจากตลาดที่เติบโตมากขึ้น (maturing market) ส่วนของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วง seeding stage หรือ early stage และ series A

ในปีนี้ เราจะได้เห็นการระดมทุนในสตาร์ทอัพที่กำลังอยู่ในช่วง later stage เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจ (due diligence) และการประเมินค่าธุรกิจยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ แต่การเข้าใจในแผนธุรกิจและความสามารถในการปรับแผนธุรกิจเพื่อขยายตัวในภูมิภาคจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของสตาร์ทอัพไทยในการเจริญเติบโตขึ้นอีกระดับ สิ่งนี้เองเป็นความท้าทายที่สำคัญของทั้งสตาร์ทอัพและนักลงทุน

เฮลธ์เทค ฟินเทค ออโต้ ยังร้อนแรง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนจากนักลงทุนวีซีทั่วโลกยังคงสูง โดยเฉพาะในกองทุนที่กำลังระดมทุนในช่วง late-stage นอกจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพ (Healthtech) และเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) แล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะมีการลงทุนสูงในเทคโนโลยียานยนต์ (Autotech) อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ รถยนต์พลังงานทางเลือก หรือการให้บริการขนส่งผู้โดยสาร ทางด้านเทคโนโลยีเองนั้น เป็นที่คาดการณ์ปัญญาประดิษฐ์ว่าจะมีการเจริญเติบโตสูง

การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จะเป็นอีกสิ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นหลายบริษัท (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าทางตลาดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กำลังเตรียมทำ IPO เช่น Uber และ Lyft ถึงแม้ว่าปลายปีที่ผ่านมาจะมีความผันผวนทางตลาดทุนก็ตาม

Arik Speier หัวหน้าส่วนเทคโนโลยี KPMG Somekh Chaikin ในอิสราเอลระบุว่า ในปีที่แล้ว เราเห็นประตูของการเข้าตลาดหุ้นหรือ IPO เปิดกว้างทั่วโลก ขณะที่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาตลาดทุนสับสนวุ่นวายสูง หากสามารถกลับมานิ่งได้ในไตรมาสแรกชองปีนี้ ก็อาจจะเห็นยูนิคอร์นที่มีอายุเริ่มหาทางออกโดยการเข้าตลาดหุ้น หากบริษัทเหล่านี้ทำได้ดี ก็จะมีรายอื่นๆ ตามมา