อเมริกาและจีน หัวหอกของโลก AI

12 February 2019 Technology

การศึกษาขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ของยูเอ็น ซึ่งตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานว่าประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นผู้นำเหนือชาติอื่นๆ ทั่วโลกในด้านปัญญาประดิษฐ์  (AI)

โดยการศึกษาดังกล่าวพบว่า ขณะนี้ IBM ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกามีการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์มากที่สุดถึง  8,920 ฉบับ นำหน้าบริษัทไมโครซอฟต์ที่มี 5,930 ฉบับ และกลุ่มบริษัทใหญ่ด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น

ในบรรดาสถานศึกษาชั้นนำ 20 อันดับแรกที่มีการจดสิทธิบัตรปัญญาประดิษฐ์ มีสถานศึกษาของจีนอยู่ 17 แห่ง โดยจีนนั้นมีความแข็งแกร่งอย่างยิ่งในด้าน Deep Learning  ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นเทคนิคในเรื่อง Machine learning อันรวมถึงระบบการรู้จำเสียงพูดของมนุษย์ (Speech Recognition)

“สหรัฐอเมริกาและจีนได้ก้าวมาเป็นผู้นำในด้านนี้อย่างเห็นได้ชัด โดยอยู่แถวหน้าทั้งในเรื่องจำนวนคำขอจดสิทธิบัตรและสิ่งพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์” Francis Gurry ผู้อำนวยการขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกกล่าวในงานแถลงข่าว

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้กล่าวหาจีนว่า จีนขโมยนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไป ทั้งนี้ ทรัมป์สั่งเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนซึ่งมีมูลค่ารวม 234,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นการลงโทษจีน

ในเดือนธันวาคม จีนแถลงว่าจะไม่ยอมรับการกล่าวหาเชิง “หมิ่นประมาท” จากสหรัฐฯ โดยเด็ดขาด รวมทั้งคำกล่าวหาติเตียนจากแนวร่วมอื่นๆ ที่ว่า จีนทำการจารกรรมทางเศรษฐกิจและขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและความลับบริษัท

ผู้อำนวยการของ WIPO  ยอมรับว่า มีข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับการกระทำของจีนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่น่ากังขาเลยว่า จีนได้รับเอาระบบทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งใช้กันทั่วโลกมาใช้ โดยจีนมีสำนักงานจดสิทธิบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีจำนวนการขอจดสิทธิบัตรในประเทศมากที่สุดด้วย

“ทั้งสองประเทศคือผู้เล่นที่จริงจังในเรื่องนี้” เขากล่าว

การศึกษาของ WIPO  ได้วิเคราะห์ข้อมูลการจดสิทธิบัตรของนานาชาติและการพิพาทฟ้องร้องซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมทั้งสิ่งตีพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์ และการได้มาซึ่งสิทธิบัตร โดยพบว่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 เป็นต้นมา มีคำขอจดสิทธิบัตรด้านปัญญาประดิษฐ์มากพอๆ กับที่มีคำขอจดในช่วงครึ่งศตวรรษหลัง นับตั้งแต่ที่ศัพท์คำนี้ถูกสร้างขึ้นในยุค 50

ระหว่างปีพ.ศ.2556-2559  การยื่นขอจดสิทธิบัตรด้าน machine learning ซึ่งรวมถึงบรรดาเทคนิคที่ใช้ในบริการใช้รถร่วมกัน (ride-sharing) เพื่อให้คนขับขับทางอ้อมน้อยที่สุด มีอัตราเพิ่มขึ้นต่อปีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยขึ้นในปีที่แล้ว ทั้งนี้คำขอจดสิทธิบัตรซึ่งเป็นความลับนั้น จะประกาศต่อสาธารณะได้เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 18 เดือนไปแล้ว

การยื่นขอจดสิทธิบัตรที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น โดยมากเป็นสิทธิบัตรเกี่ยวกับเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ซึ่งก้าวล้ำยิ่งกว่าวิทยาการด้านหุ่นยนต์   ทั้งนี้ ในปีพ.ศ.2556 มีคำขอจดสิทธิบัตรด้านนี้จำนวน 118 ฉบับ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 2,399 ฉบับในปีพ.ศ.2559

แอปพลิเคชัน AI ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดหนึ่งเดียว ได้แก่   คอมพิวเตอร์วิทัศน์ ซึ่งใช้ในรถขับเคลื่อนเองได้ และมีการกล่าวไว้ในสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์กว่า 49 เปอร์เซ็นต์

Gurry กล่าวว่า การศึกษาของ WIPO แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนั้นก้าวตามวิทยาศาสตร์อย่างไร โดยในปีพ.ศ.2556 แอปพลิเคชันด้านเทคโนโลยีได้รับความนิยมอย่างมาก ความนิยมดังกล่าวเกิดขึ้นให้หลัง 10 ปีที่สิ่งพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์ได้รับความนิยม

อย่างไรก็ดี ไม่มีวิธีหรือหนทางที่น่าเชื่อถือใดที่จะตรวจสอบว่าการยื่นขอจดสิทธิบัตรนั้นมีคุณภาพหรือไม่

อ้างอิง : Reuters