NIA จับมือไทยยูเนี่ยน-ม.มหิดล ตั้ง SPACE-F เร่ง FoodTech

8 February 2019 Startups

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ปั้น ‘SPACE-F’ โปรแกรมบ่มเพาะ-เร่งโต ดีปเทคสตาร์ทอัพสายอาหาร เสริมแกร่งด้วยนวัตกรรม หนุนอุตสาหกรรมอาหาร 500,000 ล้านบาท

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระบุภายหลังการร่วมลงนามกับ 2 หน่วยงานพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง ‘SPACE-F’ ว่า เป็นโครงการแรกของโลกที่ทำด้าน FoodTech Incubator and Accelerator Program ที่จะสร้างดีปเทคสตาร์ทอัพสายอาหารให้กับประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารสร้างดุลการค้าให้กับประเทศกว่า 500,000 ล้านบาท/ปี ทว่ากลับยังไม่มีสตาร์ทอัพที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูงในเซคเตอร์นี้ ผู้ร่วมก่อตั้งมีทั้งภาครัฐอย่าง NIA ที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระบบนวัตกรรมของประเทศ เอกชนผู้ส่งออกอาหารที่จะให้โนว์ฮาวการทำตลาดจริง และภาคการศึกษาที่มีการวิจัยพัฒนา

โดย NIA ตั้งเป้าว่าโครงการ SPACE-F นี้จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 60 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี

วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการ NIA เสริมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาผู้จัดการโครงการ และคาดว่าจะได้เริ่มโครงการภายในเดือนพฤษภาคม โดยการเร่งโต หรือ Acceleration จะเปิดกว้างให้กับสตาร์ทอัพหรือธุรกิจที่มีสินค้าอยู่แล้วทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ต้องการขยายตลาดที่รวดเร็วขึ้น โดยคาดว่าจะคัดสรรได้ 12 ทีมใน 3 เดือน ในส่วนของการบ่มเพาะ จะเน้นมหาวิทยาลัยของไทยเท่านั้น สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมจะได้ทุนสนับสนุนระดับ Seed และ Series A ที่โดยเฉลี่ยไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ราย ทั้งนี้ ตลาดอาหารเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เช่น เรามีโรงงานด้านอาหารกว่าแสนแห่งเฉพาะเครื่องจักร หากมีนักพัฒนา Internet of Things มาใช้ตรวจจับการทำงานของเครื่องและวิเคราะห์ข้อมูล ก็จะมีตลาดมหาศาล และส่งออกไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่า นวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ และเพิ่ม Gross Profit จาก 14-15% เป็น 25% ได้ การสนับสนุนในโครงการนี้จะทำให้เข้าถึงสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ ซึ่งจะเข้าไปลงทุนหรือไลเซ่นเทคโนโลยีการต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกและขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่ใช่อาหารทะเล จากเดิมบริษัทมุ่งการเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) ทั้งนี้บริษัทเตรียมจัดสรรเงิน 50 ล้านบาทใน 3 ปีในการสนับสนุนโครงการ SPACE-F ทั้งยังมีงบวิจัยพัฒนาภายในองค์กรอีก 400-600 ล้านบาท/ปี

สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุเพิ่มเติมว่า Tech-based startup ล้วนเกิดจากนวัตกรรมที่มาจากงานวิจัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมีนักวิจัยกว่า 300 คนที่จะช่วยสนับสนุนในโครงการ ทั้งจะสนับสนุน Ecosystem ในการทำงานวิจัย อันได้แก่ สถานที่ ห้องปฏิบัติการงานวิจัย นักวิจัย องค์ความรู้ ตลอดจนผลงานวิจัยที่มีอยู่ คณะวิทยาศาสตร์หวังว่าการร่วมมือกันของพันธมิตรทั้งสามฝ่ายจะเพิ่มอัตราความสำเร็จของสตาร์ทอัพเหล่านี้ จนกระทั่งสามารถสร้าง Impact ต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศไทยและระดับโลกต่อไป SPACE-F ตั้งอยู่ในพื้นที่ของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ภายใต้พื้นที่อำนวยความสะดวกกว่า 1,000 ตารางเมตร ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล