AI-VR-Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนนวัตกรรมแห่งโลกศิลปะ ดนตรี และนันทนาการ เปิดประสบการณ์เสพความบันเทิงใหม่ยุคดิจิทัล

1 February 2019 Lifestyle

ตฤณ ทวิธารานนท์​ ผู้จัดการอาวุโส MICE Intelligent and Innovation สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB เล่าถึงมุมมองที่ Technology เข้ามาผสมผสานกับ Music,  Art และ Recreation หรือที่เรียกว่า MAR Tech ณ เวที NIA Action Stage ในงาน Creative Talk Conference 2019 ว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ ทำคอนเทนต์ของการจัดงานอีเวนท์ให้น่าสนใจที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ทั้งจะสร้างจุดเด่นให้ไทยสามารถดึงดูดการยอมรับการจัดงานระดับนานาชาติได้มากขึ้นด้วย

โดยจะสามารถผสมผสานทั้งงานด้านศิลปะ ดนตรี และเกม ขึ้นอยู่กับผู้จัดการจะสร้างสรรค์งาน และ TCEB ในฐานะหน่วยงานรัฐ ก็พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการจัดงานประชุมและนิทรรศการต่างๆ

นอกจากนั้น หน่วยงานจะเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมโยงกับผู้จัดงาน เช่น หน่วยงานสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช. ด้านวิจัยพัฒนาเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยี และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. ที่ด้านการเข้าถึงนวัตกรรมได้สะดวกขึ้นด้วย

ในต่างประเทศ จะเห็นการใช้เทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้าและความเคลื่อนไหว หรือ Face&Motion Detection มาช่วยสร้างความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมงานมากขึ้น เช่น การแข่งขันจักรยานทางไกล หรือตูร์เดอฟร็องส์​ ตรวจจับการเคลื่อนไหวอย่างการล้มของผู้เข้าแข่งขัน

ทั้งมีการใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งในการแสดงคอนเสิร์ตดูการตอบรับของผู้เข้าฟัง เพื่อให้บนเวทีตอบสนองต่อพฤติกรรมที่สอดคล้องกับผู้ฟัง เช่น แมชชีนจับพฤติกรรมของผู้ฟังที่เริ่มเหนื่อยกับการเต้นติดต่อกันหลายเพลง ก็อาจเปลี่ยนเพลงเข้าสู่เพลงที่ช้าลง

หรือใช้การผสมผสานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนผ่าน Augmented Reality: AR ในงานคอนเสิร์ต และให้ศิลปินผู้ล่วงลับที่โด่งดังกลับมาแสดงร่วมกับศิลปินบนเวทีในการแสดงสดผ่านเทคโนโลยี

ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการ Sea (Thailand) ผู้ให้บริการเกมออนไลน์รายใหญ่ ยูนิคอร์น สัญชาติสิงคโปร์ เสริมว่างานด้านอีสปอร์ตเป็นกิจกรรมสันทนาการยอดฮิตที่การแข่งขันระดับโลก เช่น ในสหรัฐฯ ได้ใช้ AR เข้ามาเพิ่มอรรถรสให้กับผู้เข้าชมการแข่งขัน ทำให้ผู้เข้าชมในโลกจริงใกล้ชิดการแข่งขันเกมในโลกดิจิทัล

กิจกรรมสันทนาการยังเสริมระหว่างกันได้ อย่างดนตรีและเกม ที่จะเห็นการแข่งขันอีสปอร์ต มีการแสดงคอนเสิร์ตเข้ามาด้วย เช่น วง Imagine Dragons ในการแข่งขันอีสปอร์ต League of Legends

ปิยะพงษ์​  หมื่นประเสริฐดี หนึ่งในผู้ก่อตั้งฟังใจ (Fungjai) ดนตรีนอกกระแส มองว่างานแสดงคอนเสิร์ตสามารถเข้าไปสนับสนุนการท่องเที่ยวให้กับประเทศและการท่องเที่ยวท้องถิ่นได้ ทำให้กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่อื่น ๆ ดึงดูดนักดนตรีเข้ามาแสดงในไทย พร้อม ๆ กับส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงกับงานคอนเสิร์ต Music Tourism และเป็นมหานครแห่งดนตรี Music city ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ

โดยการจัดงานข้ามระหว่างอุตสาหกรรม สร้างนวัตกรรมการจัดงานรูปแบบใหม่และต่อยอดให้กับประเทศ  นอกจากนั้น จะเห็นเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะมาทำสมาร์ทคอนเทรค การจัดเก็บลิขสิทธิ์ที่ข้อมูลชัดเจนโปร่งใสไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และใช้แอปฯ การค้นหาการแสดงสดของศิลปิน เป็นเครื่องมือการตลาดที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

เกียรติยศ พานิชปรีชา  Bit Studio ผู้พัฒนาเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟ มองว่าแวดวงการจัดงานนิทรรศการศิลปะ จะไม่จำกัดอยู่แต่ในแกลเลอรี่อีกต่อไป แต่จะผสานกลมกลืนสภาพแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรม เช่น การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ จังหวัดกระบี่ Thailand Biennale Krabi เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะทำให้เป็น “สื่อใหม่” หรือนิวมีเดีย ที่จะให้งานศิลปะเข้าถึงกลุ่มชนในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่จะใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นในอีก 3-5 ปี