ซีอีโอไมโครซอฟท์ ชี้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าต้องถูกกำกับดูแล

30 January 2019 Technology

สัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมโครซอฟท์ อ้าแขนรับกฎกำกับเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า เนื่องจากความกังวลความสามารถของเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการเฝ้าระวังและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น

นาเดลลาแนะว่า การรู้จำใบหน้าได้เริ่มแพร่หลาย และการกำกับดูแลตนเองระหว่างบริษัทเทคโนโลยีอาจไม่เพียงพอที่จะจัดการกับความท้าทายด้านสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ นาเดลลากล่าวในงานเวิลด์อีโคโนมิค ฟอรัมที่กรุงดาวอสว่า “สิ่งหนึ่งที่เขารู้สึกในตลาดของการแข่งขัน คือไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการใช้การรู้จำใบหน้าที่ถูกและผิด” เขาระบุว่า การกำกับดูแลตนเองเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้การรู้จำใบหน้า “ยุติธรรมและแข็งแกร่ง” และน่าจะมีการใช้กฎหมายของรัฐเพื่อป้องกันผลลัพธ์ร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น

“เราเปิดกว้างรับกฎใด ๆ ที่เข้ามาช่วยให้ตลาดไม่พากันวิ่งดิ่งลงเหว และการดิ่งลงเหวจะเป็นภาระหนักที่ต้องส่งต่อให้กฎหมาย” ซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่รายนี้ถือเป็นบริษัทแถวหน้าที่หยิบยกความกังวลเกี่ยวกับการใช้การรู้จำใบหน้าในทางที่ผิด และได้เรียกร้องให้มีกฎกติกาเพื่อปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการแบ่งแยก

เทคโนโลยีนี้ได้รวมในสมาร์ทโฟนใหม่ ๆ รวมถึงแอปเปิลไอโฟน และซัมซุง กาแล็กซี่ เป้าประสงค์หลักของการรู้จำใบหน้า ก็คือการระบุตัวตนผู้ใช้ด้วยการตรวจสอบด้านชีวภาพ หรือไบโอเมทริกซ์ ทว่ามีความกังวลเพิ่มขึ้นจากความสามารถของบางประเทศอย่างจีน ที่ใช้สอดแนมประชาชน ที่นำไปสู่การเรียกร้องให้มีกฎหมายเข้ามาดูแล ตัวอย่างเช่น เซนส์ไทม์ (SenseTime) ยักษ์ใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีนได้นำเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุอาชญากรเป้าหมายที่ต้องสงสัย โดยบริษัทระบุในเว็บไซต์ว่า หน่วยงานด้านความปลอดภัยสาธารณะในกวางโจว ได้ระบุผู้ต้องสงสัยการก่ออาชญากรรมกว่า 2,000 ราย ตั้งแต่ปี 2017 ด้วยการช่วยเหลือของเทคโนโลยีเซนส์ไทม์

ด้านความเป็นส่วนตัว

นาเดลลาเรียกร้องให้มีกฎการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวระดับโลก โดยกล่าวชมกฎหมายจีดีพีอาร์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวใหม่ของยุโรปที่เริ่มใช้ในปีที่ผ่านมาว่า เป็น “การเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยม” กระนั้นก็ตาม การยกเครื่องกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ควรหยุดแค่ในยุโรป และสหรัฐฯ ส่วนอื่น ๆ ของโลกควรดำเนินการตามสมควร

นาเดลลากล่าวว่าเขาหวังที่จะเห็นสหรัฐฯ มีอะไรบางสิ่งที่ใกล้เคียงกัน และที่จริงแล้ว เขาหวังที่จะเห็นโลกมีมาตรฐานร่วมกัน เนื่องจาก “สิ่งหนึ่งที่เราไม่อยากทำ คือการแบ่งแยกกันในโลก และการเพิ่มต้นทุนการทำธุรกรรม”

ปีที่ผ่านมา มีกรณีที่เด่นชัด โดยเฉพาะการถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันข้อมูลและการละเมิดความเป็นส่วนตัว เฟซบุ๊กยังคงถูกพูดถึงในวงกว้างกับการเป็นศูนย์กลางของเรื่องอื้อฉาวที่ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองอย่างเคมบริดจ์แอนะลิติกาเข้าถึงข้อมูลของคนกว่า 87 ล้านคน กรณีเช่นนี้ ทำให้มีการปราบปรามนักการเมืองและผู้กำกับดูแล และการพิจารณาอย่างละเอียดในธุรกิจเทคโนโลยี

ผู้บริหารหลายบริษัท —มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก และเชอริล แซนด์เบิร์ก ซันดาร์ พิชัย จากกูเกิล และ แจ็ค ดอร์ซีย์ จากทวิตเตอร์ ออกมาให้การเป็นพยานต่อฝ่ายนิติบัญญัติในหลายประเด็น รวมถึงการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิด การตรวจสอบอย่างละเอียดที่เพิ่มขึ้นในระเบียบปฏิบัติด้านข้อมูลในอุตสาหกรรมยังทำให้เฟซบุ๊กและอื่น ๆ ต้องถูกปรับ หน่วยงานเฝ้าระวังด้านข้อมูลของสหราชอาณาจักร ลงโทษยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียด้วยค่าปรับสูงกว่า 500,000 ปอนด์ (หรือราว 652,000 ดอลลาร์สหรัฐ)ในการส่งต่อข้อมูลผู้ใช้

ขณะที่หน่วยงานด้านความเป็นส่วนตัวของฝรั่งเศสได้ลงโทษกูเกิลเป็นเงินค่าปรับกว่า 50 ล้านยูโร (57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการละเมิดจีดีพีอาร์ (กฎการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)