CES 2019 กรุยทางเทคโนโลยี “สแกนใบหน้า” สู่การใช้งานจริง

15 January 2019 Technology

คงจะดีไม่น้อย หากผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ เดินเข้าไปในร้านค้าต่างๆ แล้วมีหุ่นยนต์คอยทักทาย แถมยังเรียกชื่อเราได้อย่างถูกต้อง จากนั้นก็บอกเราได้ว่าสินค้าที่เราสั่งซื้อทางออนไลน์เมื่อวันก่อนนั้นจัดเตรียมไว้เรียบร้อย สามารถรับไปได้เลย หรือจะให้ดีกว่านั้นก็สามารถแนะนำสินค้าที่เราอาจจะต้องการให้เพิ่มเติมได้อีกด้วย

แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากขาดซึ่งเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Facial Recognition หรือเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทางของบริการสุดคูลเหล่านั้น ส่งผลให้เทคโนโลยี Facial Recognition กำลังเป็นที่สนใจของหลายอุตสาหกรรม ทั้งฟากของอุตสาหกรรมยานยนต์ ค้าปลีก โรงแรม หรือแม้แต่ผู้ผลิตสินค้าคอนซูมเมอร์ ที่อยากจะนำ Facial Recognition มาสร้างความว้าวให้กับธุรกิจของตัวเอง

ในขณะเดียวกัน Facial Recognition ก็นำมาซึ่งเสียงต่อต้านจากหลายภาคส่วน ที่กังวลเรื่องความปลอดภัย และประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว เช่นเดียวกับเวที CES 2019 ที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา สิ่งที่บริษัทเทคโนโลยีเลือกนำมาโชว์เกี่ยวกับ Facial Recognition คือภาคของการใช้สร้าง “ประสบการณ์แบบ Personalized” ให้กับผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน ก็เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามที่กังวลในเรื่องความปลอดภัยได้ส่งเสียงเตือน

โดยในแง่บวก Facial Recognition นอกจากจะเอาไว้ใช้ปลดล็อกโทรศัพท์มือถือแล้ว มันยังทำให้โลกได้เห็นถึงการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือเด็กๆ ให้ปลอดภัยมากขึ้น บ้างก็นำไปใช้กับออฟฟิศ ในการบันทึกการเข้า-ออกของพนักงาน และบุคคลภายนอกต่างๆ สตีฟ คาร์ลิน (Steve Carlin) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธ์ของซอฟท์แบงค์ โรโบติกส์ (SoftBank Robotics) เป็นอีกหนึ่งคนที่นำหุ่นยนต์ของบริษัทมาจัดแสดง โดยหุ่นยนต์เปปเปอร์ (Pepper) ของซอฟท์แบงค์สามารถจดจำใบหน้าของลูกค้าได้ และสามารถทักทายลูกค้ารายนั้น หากแวะกลับมาที่ร้านอีกครั้ง ซึ่งไม่เฉพาะร้านค้าปลีก ธุรกิจอย่างโรงแรมก็สามารถใช้ได้ ซึ่งนี่จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้อย่างมาก

“สิ่งที่พวกมันกล่าวต้อนรับกับลูกค้าอาจเป็น ยินดีต้อนรับกลับมาอีกครั้ง คุณ…ไม่จำเป็นต้องต่อแถวเพื่อรอเช็กอิน เพราะเราเช็กอินให้คุณเรียบร้อยแล้ว และเราส่งกุญแจห้องให้คุณแล้วทางสมาร์ทโฟน” คาร์ลินยกตัวอย่าง

ไม่เพียงแต่ซอฟท์แบงค์ แต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็มีการนำ Facial Recognition มาใช้ปรับปรุงประสบการณ์ในการเดินทางของลูกค้าผ่านระบบเอนเตอร์เทนเมนต์ และบริการต่าง ชๆ เช่นกัน อาเบะ เฉิน ตัวแทนจากสตาร์ทอัพด้านยานยนต์สัญชาติจีน Byton เปิดเผยว่า รถยนต์ที่ทางบริษัทเขาผลิตขึ้นนั้น สามารถจดจำใบหน้าของผู้เดินทางได้ และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประกอบการเลือกเพลงให้ตรงกับความชอบของผู้เดินทางแต่ละราย “ระบบรู้ว่ามีใครอยู่บนรถบ้าง และจะต้องใช้เวลาในการเดินทางเท่าไร รวมถึงหากมีใครหิว ระบบก็สามารถแนะนำร้านอาหารที่น่าสนใจได้ด้วย” เฉินกล่าว โดยรถยนต์ค่าย Byton มีแผนจะเปิดตัวภายในปีนี้

ส่วนริชาร์ด แคริเออร์ ผู้บริหารจากไซเบอร์ลิงค์ (CyberLink) บริษัทเทคโนโลยีจากไต้หวัน กล่าวว่า เทคโนโลยี Facial Recognition ของพวกเขานั้นมีความแม่นยำมาก โดยกลุ่มเป้าหมายก็คือธุรกิจค้าปลีก กลุ่มผู้ใช้งานตามบ้าน และการใช้งานเพื่อการบังคับใช้กฎหมาย ยกตัวอย่างการใช้งานในธุรกิจค้าปลีกก็คือ การผนวกเทคโนโลยี Facial Recognition เข้ากับการเลือกโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นลูกค้าหญิงวัยรุ่นเข้าร้านมา ก็จะได้เห็นโฆษณาแบบหนึ่ง ส่วนถ้าเป็นลูกค้าชายสูงอายุ ก็จะเห็นโฆษณาอีกแบบหนึ่ง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีเทคโนโลยี Facial Recognition คอยช่วย Procter & Gamble ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่นำเทคโนโลยี Facial Recognition มาจัดแสดงใน CES 2019 โดยเป็นการทดสอบสกินแคร์แบบเฉพาะตัวกับลูกค้าแต่ละราย นอกจากนั้น ก็มีสตาร์ทอัพบางรายเลือกใช้ Facial Recognition รักษาความปลอดภัยให้กับบ้าน เช่น ผนวกเข้ากับระบบซิเคียวริตี้ และการเปิดประตูบ้าน ซึ่งจะช่วยให้คนที่เป็นสมาชิกภายในบ้าน หรือเพื่อนที่เจ้าของบ้านไว้ใจ สามารถเปิดประตูเข้ามาได้เลย ส่วนถ้าเป็นบุคคลแปลกหน้า ก็สามารถส่งสัญญาณเตือนให้เจ้าบ้านรู้ตัวได้ด้วย เช่นเดียวกับสตาร์ทอัพจากจีนชื่อทูย่า (Tuya) ที่นำ AI มาติดกับวิดีโอหน้าประตูบ้าน และใช้ Facial Recognition ในการวิเคราะห์ใบหน้าของคนที่มาหา ว่าเป็นคนในบ้าน เพื่อน คนส่งของ ฯลฯ ซึ่งระบบนี้วิเคราะห์ได้กระทั่งสัตว์เลี้ยงของแต่ละบ้านเลยทีเดียว

“นอกจากนั้น คุณยังสามารถอนุญาตให้บุคคลต่างๆ เข้าบ้านได้แบบเป็นครั้งๆ ไป หรือจะพูดคุยกับพวกเขาผ่านทางวิดีโอ ไม่ต้องให้เข้าบ้านก็ยังได้” แซนดี้ สก็อต หัวหน้าฝ่ายขายของทูย่ากล่าว อย่างไรก็ดี หากมองในแง่บวกก็จะเห็นประโยชน์ของ Facial Recognition อยู่มากมาย แต่ในฟากของผู้ไม่เห็นด้วย หรือผู้ที่กังวลเรื่องความปลอดภัย ที่เกรงว่าจะมีการบันทึกใบหน้า และลอบติดตามความเคลื่อนไหวก็มีเสียงดังออกมาจากงาน CES 2019 ในปีนี้เช่นกัน

แบรนด้า ลีออง จาก the Future of Privacy Forum เผยว่า ข้อมูลใบหน้าถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ภาคธุรกิจอยากได้ ซึ่งทุกวันนี้ แทบทุกบริษัทเชื่อว่ามีข้อมูลของผู้บริโภคในมุมต่างๆ อยู่มากมายแล้ว ขาดก็แต่ข้อมูลใบหน้าเท่านั้น ซึ่งหากสามารถจัดเก็บได้ ก็จะทำให้ฐานข้อมูลผู้บริโภคครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น ผลการสำรวจของ Brooking Institute เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของธุรกิจค้าปลีกที่จะติดตั้งเทคโนโลยี Facial Recognition ไว้ในร้านค้าปลีก เพื่อป้องกันการขโมยสินค้า และ 44% การใช้เทคโนโลยี Facial Recognition ในสนามบินเพื่อช่วยยืนยันตัวตนได้อย่างรวดเร็วก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาปรารถนา

ขณะที่การสำรวจจาก the Information Technology and Innovation Foundation (ITIF) พบความเห็นที่แตกต่าง โดยมีเพียง 26% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่อยากให้รัฐบาลจำกัดการใช้งานเทคโนโลยี Facial Recognition รวมถึงมีเพียง 20% ที่อยากให้จำกัดการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวในสนามบิน “ผู้คนมักตั้งข้อสงสัยเวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ในกรณีนี้ ถือว่าพวกเขายอมรับเทคโนโลยี Facial Recognition อย่างรวดเร็วมากทีเดียว” แดเนียล แคสโตร จาก ITIF กล่าว

อ้างอิง: AFP