“เอไอแปลภาษา” ตบเท้าร่วมงาน CES 2019 พรึ่บ

14 January 2019 Technology

หนึ่งในความสามารถที่มักปรากฏในนิยายวิทยาศาสตร์ก็คือความสามารถในการแปลภาษา แต่ที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่า โลกยังมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถพัฒนาความสามารถนี้ให้เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้อย่างสมบูรณ์

แต่ด้วยความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีคลาวด์ ในเร็วๆ นี้ เป็นไปได้ว่าเราจะมีเครื่องช่วยแปลที่ไม่หวั่นแม้จะได้ยินภาษาอะไรเกิดขึ้นแล้ว โดยในงาน CES 2019 ซึ่งเป็นงานรวมสุดยอดเทคโนโลยีระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกต้นปี มีบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากตบเท้านำอุปกรณ์แปลภาษามาจัดแสดงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เข้าชมงาน หนึ่งในนั้นคือ หูฟัง Pilot จากบริษัท Waverly Lab ที่สามารถแปลภาษาได้ 15 ภาษา แถมมีราคาไม่แพงมาก เพียง 180 ดอลลาร์สหรัฐ และ 250 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ที่สวมหูฟังตัวนี้สามารถพูดเป็นภาษาของตัวเองได้โดยตรง และผู้ฟังซึ่งสวมหูฟัง Pilot อยู่ด้วยนั้น ด้วยความสามารถของระบบ มันจะแปลเป็นภาษาที่ผู้ฟังเข้าใจให้โดยอัตโนมัติ

โดยในงาน CES 2019 ได้มีการทดลองโดยให้ผู้สื่อข่าวจาก AFP ได้สวมหูฟัง Pilot และพูดใส่หูฟังด้วยภาษาฝรั่งเศส เพื่อจะสื่อสารกับ Andrew Ochoa ผู้บริหารของบริษัท Waverly Lab ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ผลปรากฏว่า เสียงที่ออกจากหูฟังฝั่ง Andrew Ochoa คือเสียงภาษาอังกฤษที่ระบบแปลออกมาให้

โดยบริษัทแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 และเทคโนโลยีของพวกเขาใช้คลาวด์เป็นฟังก์ชันหลัก ซึ่งการใช้คลาวด์อาจมีผลให้คำแปลที่ระบบจะส่งออกมานั้นอาจดีเลย์ 2 – 3 วินาที แต่ก็ต้องยอมรับว่า ดีมานด์ของเครื่องมือแปลภาษาเพื่อใช้งานในภาคธุรกิจนั้นมีมายาวนาน เมื่อมีสินค้าที่ตอบโจทย์ จึงทำให้ยอดขายเติบโตอย่างที่หลายๆ แบรนด์ต้องอิจฉา โดยหูฟัง Pilot ขายได้ 35,000 คู่ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี และมีลูกค้ามากมายหลายอุตสาหกรรม หลักๆ คือภาคการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมต่างๆ ธุรกิจแท็กซี่ ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ที่มองว่าเครื่องมือตัวนี้ช่วยในการบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากหูฟัง Pilot แล้ว ก็ยังมีหูฟังสัญชาติจีนอย่าง WT2 จากบริษัท TimeKettle ที่ทำงานได้ไม่ต่างจากหูฟัง Pilot และอุปกรณ์ชื่อพ็อกเก็ตทอล์ก จากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นชื่อ Sourcenext มาจัดแสดงเช่นกัน โดยหูฟังค่าย Sourcenext นั้นมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมจากภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเองที่ต้องเตรียมตัวด้านภาษาต่างๆ เอาไว้รองรับการมาถึงของมหกรรมโอลิมปิก กรุงโตเกียว ปี 2020 ด้วย โดยพ็อกเก็ตทอล์กนั้น ปัจจุบันสามารถแปลได้ 74 ภาษา และมีราคาขายอยู่ที่ 299 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์แปลภาษาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีสตาร์ทอัพจากจีนอย่าง iFlytex ผู้พัฒนาระบบจดจำเสียงยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ก็เปิดตัว Translator 2.0 บริการแปลจากภาษาจีนไปเป็นภาษาอื่นๆ ได้มากถึง 30 ภาษาด้วย หรือบริษัทชื่อ Travis จากเนเธอร์แลนด์ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่สามารถแปลภาษาได้เช่นกัน ซึ่งกรณีของ Travis นั้น ความที่ทำออกมาขายก่อนเพื่อน ทำให้บริษัทขายตัวอุปกรณ์ไปได้ 400,000 เครื่องเป็นอย่างน้อย ในราคาเครื่องละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกูเกิล ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีก็เปิดใช้ซอฟต์แวร์แปลภาษาของตัวเองได้ฟรี และมีการผนวกบริการนี้เข้ากับหูฟังพิกเซลที่เปิดตัวมาเมื่อ 2 ปีก่อนแล้วเช่นกัน โดยในปีนี้ กูเกิลได้ประกาศในงาน CES 2019 ว่า บริษัทจะขยายความสามารถนี้ไปสู่โปรดักต์ใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ภาพของการสื่อสารในอนาคต เป็นภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งความสามารถก็ไม่เป็นสองรองใครด้วย ส่วนธุรกิจสอนภาษา เมื่อเจอเทคโนโลยีใหม่นี้เข้าไป เป็นไปได้ว่าอาจต้องม้วนเสื่อปิดตัวกันมากขึ้นก็เป็นได้

อ้างอิง: AFP