2562 ปีที่ Geospatial Technology จะโตเป็นดอกเห็ด

8 January 2019 Technology

เข้าสู่ปี 2562 ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราอยู่ในโลกที่ต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้นเรื่อยๆ และหากสังเกตให้ดีจะพบว่า เครื่องมือสำคัญอย่างแอปพลิเคชันต่างๆ บนสมาร์ทโฟนนั้น จะเริ่มเรียกร้องขอเข้าถึงที่อยู่ของตัวเครื่องมากขึ้น แลกกับการให้บริการที่ (เขาเชื่อว่า) จะดียิ่งขึ้นตามไปด้วย

การนำเทคโนโลยีเชิงภูมิศาสตร์เข้ามาทำงานร่วมกับบิ๊กดาต้าจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาในปี 2562 ว่าจะผุดออกมาเป็นธุรกิจอะไรได้บ้าง ซึ่งวันนี้เราจะขอยกตัวอย่างมาบางส่วน ดังนี้

1. ธุรกิจการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Geospatial analytics and data processing) สำหรับธุรกิจด้านภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ หรือ Geospatial Business ต้องบอกว่าเป็นธุรกิจที่หินเอาการ เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะถึงเราจะใช้บริการแผนที่ต่างๆ กันอย่างสนุกสนาน แต่ในเบื้องหลังแล้ว มันไม่ใช่ธุรกิจที่ “ขาย” ได้ง่ายขนาดนั้น การนำภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ไปใช้ในเชิงพาณิชย์มักมีปัญหาในการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน ทำให้การโอนถ่ายข้อมูลจากโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่ามาสู่แบบใหม่อาจเกิดความไม่เข้ากันของดาต้าได้ แต่ตัวช่วยของปัญหานี้ก็มีอยู่ นั่นคือคลาวด์ และทำให้ธุรกิจสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งข้อมูลได้แบบ (เกือบจะ) เรียลไทม์

ยกตัวอย่างโปรดักส์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ เช่น Geospatial Analytics InSite of Solution เครื่องมือนี้มีการใช้คลาวด์ช่วยในการบริหารจัดการพื้นที่และตรวจสอบการใช้งาน ซึ่งสะดวกสำหรับผู้ที่มีอาคารหลายแห่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ

2. สมาร์ทซิตี้ (Smart Cities) แม้ว่าความหมายของการเป็นสมาร์ทซิตี้อาจยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด แต่สภาสมาร์ทซิตี้ (Smart Cities Council) ในวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า สมาร์ทซิตี้ คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลผนวกเข้าไปในทุกฟังก์ชันการทำงานของเมือง ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องมีแผนที่เป็นเครื่องมือสำคัญ จากนั้นจึงค่อยผนวกเอารถอัจฉริยะไร้คนขับ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการพื้นที่แบบ 3D เข้ามาช่วยกัน ซึ่งเหล่านี้จะทำให้รูปแบบการเดินทางและการใช้ชีวิตในเมืองสมาร์ทซิตี้เติบโตได้ ปัจจุบันมีบริษัท เช่น Mapillary และ Telensa ได้ลองนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่มาใช้ในการสร้างภาพของเมืองแบบเรียลไทม์ รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการการจราจร และมลพิษแล้วเช่นกัน

3. ระบบการบินแบบไร้พลขับ อากาศยานแบบไร้คนขับ (Unmanned Aircraft Systems : UAS) หรือโดรนไม่ใช่เรื่องใหม่ และต้องบอกว่าในช่วงปีใหม่ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นนี้จะได้เห็นการใช้งาน UAS เพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะในด้านการทหาร เพราะบริษัทอย่าง Aerovironment บริษัทผู้ผลิตโดรนสำหรับใช้ในภารกิจด้านการทหาร ก็หันมาออกแบบโดรนในเชิงพาณิชย์ สำหรับใช้ในกิจการด้านพลังงานหรือภาคเกษตรกรรมแล้วเช่นกัน

4. บริการ Mapping as a Service (MaaS) ที่ผ่านมา กูเกิลแมปส์อาจจะให้ข้อมูลภาพรวมของสถานที่ต่างๆ จากทั่วโลก แต่บริษัทอย่าง Nearmap ก็เปิดตัวออกมาให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงจากทุกสถานที่ทั่วโลกได้เช่นกัน ซึ่งการที่ Nearmap ทำได้นั้นก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะมีบริการอย่างคลาวด์เกิดขึ้น จึงทำให้ธุรกิจสามารถใช้คลาวด์ในการสเกลตัวเองได้อย่างสะดวก อีกทั้งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น ใช้ในงานด้านการออกแบบพื้นที่, งานด้านวิศวกรรม หรือแม้แต่ใช้เพื่อความปลอดภัยของฝูงชน นอกจากนั้น ข้อมูลเหล่านี้ยังใช้เวลาในการส่งให้ถึงมือลูกค้าในเวลาที่น้อยลงเรื่อยๆ เราจึงมีโอกาสจะได้เห็นโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้เติบโตขึ้นในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้าด้วยนั่นเอง

5. เทคโนโลยีการใช้ข้อมูลเป็นแบบอัตโนมัติ (Building Information Modelling : BIM) ทุกวันนี้ เทคโนโลยีสามมิติไม่เพียงแต่ใช้ในงานด้านการออกแบบเกมเท่านั้น แต่ยังรองรับการนำมาสร้างแบบอัตโนมัติด้วย ซึ่งหากผนวกเข้ากับเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่แล้ว สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์พื้นผิวโลก ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สถาปนิกและวิศวกรยังสามารถใช้ดาต้าที่มาจากโมเดลเหล่านี้มาช่วยในการออกแบบโปรเจ็คต์ต่างๆ ให้มีความอัจฉริยะมากขึ้นได้ด้วย ซึ่งในอนาคต การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่มาซัพพอร์ตระบบการสร้างแบบอัตโนมัติอาจขยายไปสู่โลกของ AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ได้อีกต่อ บริษัทที่จะขอยกตัวอย่างคือ Woolpert ซึ่งเป็นบริษัทด้านสถาปัตยกรรมและภูมิสารสนเทศที่เข้าไปร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอย่าง Metropolitan Atlanta Rapid Transit Authority (MARTA) ในการวางแผนและออกแบบโครงสร้างของสะพานคนเดินในสถานี Buckhead ซึ่งโครงการนี้ ทาง Woolpert นั้นใช้คลาวด์ร่วมกับเลเซอร์สามมิติในการสร้างภาพตัวอย่างสามมิติ และใช้ภาพสามมิตินั้นเป็นโรดแม็ปในการปฏิบัติการ จะเห็นได้ว่า การใช้งานแผนที่ในปัจจุบันได้ถูกประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทำให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้แบบเรียลไทม์ผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน และนั่นก็น่าจะเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าตลาดนี้มีอนาคตสดใสรออยู่ข้างหน้าอีกตลาดหนึ่ง

อ้างอิง: Entrepreneur.com